§ ชื่อเรื่องควรมีความหมายสั้น กะทัดรัดและชัดเจน ระบุถึงเรื่องที่จะทำการศึกษาวิจัย ว่าทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด หรือต้องการผลอะไร ยกตัวอย่าง เช่น ประสิทธิผลของการออกกำลังกายกับการลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชุมชนสวนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ...
§ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ยาวมากอาจแบ่งชื่อเรื่องออกเป็น 2 ตอน โดยให้ชื่อในตอนแรกมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่า และตอนที่สองเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนขยาย เช่น “ระดับน้ำตาลในเลือดและการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน : การเปรียบเทียบระหว่างชุมชนสวนใหญ่ กับชุมชนบางกร่างในจังหวัดนนทบุรี 2547
§ การเลือกหัวเรื่องของการวิจัย ขึ้นอยู่กับ
· ความสนใจของผู้วิจัย ควรเลือกเรื่องที่ตนเองสนใจมากที่สุด และควรปรับเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป
· ความสำคัญของเรื่องที่ทำวิจัย ควรเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และนำไปใช้ปฏิบัติหรือสร้างแนวความคิดใหม่ๆได้
· เป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้ ไม่มีผลกระทบอันเนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น ด้านจริยธรรม ด้านงบประมาณ ด้านตัวแปรและการเก็บข้อมูล ด้านระยะเวลาและการบริหาร ด้านการเมือง หรือเกินความสามารถของผู้วิจัย
· ไม่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยที่ทำมาแล้ว อาจมีความซ้ำซ้อนในประเด็นต่างๆ ที่ต้องพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยง ได้แก่ ชื่อเรื่องและปัญหาของการวิจัย (พบมากที่สุด) สถานที่ที่ทำวิจัย ระยะเวลาที่ทำการวิจัย วิธีการ หรือระเบียบวิธีของการวิจัย
§ ข้อควรระวังในการตั้งชื่องานวิจัย คือ ความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ชื่อยาวเกินไปและไม่สอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ต้องการศึกษา
2.ผู้วิจัยหลัก อาจารย์ที่ปรึกษา/คณะผู้ร่วมวิจัย และสังกัดภาควิชา/หน่วยงาน
3.ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา (background and rationale)
§ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือหลักการและเหตุผล ภูมิหลังของปัญหา ความจำเป็นที่จะทำการวิจัย หรือ ความสำคัญของโครงการวิจัย ฯลฯ
§ ต้องระบุว่าปัญหาการวิจัยคืออะไร มีความเป็นมาหรือภูมิหลังอย่างไร มีความสำคัญ รวมทั้งความจำเป็น คุณค่า และประโยชน์ ที่จะได้จากผลการวิจัยในเรื่องนี้
§ ผู้วิจัยควรเริ่มจากการเขียนปูพื้น โดยมองปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาอย่างกว้างๆ ก่อนว่าสภาพทั่วๆไปของปัญหาเป็นอย่างไร และภายในสภาพที่กล่าวถึง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง
§ ประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยหยิบยกมาศึกษาคืออะไร ระบุว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ มาแล้วหรือยัง ที่ใดบ้าง และการศึกษาที่เสนอนี้ช่วยเพิ่มคุณค่าต่องานด้านนี้ ได้อย่างไร
4.วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objective)
§ เป็นการกำหนดว่าต้องการศึกษาในประเด็นใดบ้าง ในเรื่องที่จะทำวิจัย
§ ต้องชัดเจน และเฉพาะเจาะจง ไม่คลุมเครือ
§ โดยบ่งชี้ สิ่งที่จะทำ ทั้งขอบเขต และคำตอบที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว การตั้งวัตถุประสงค์ ต้องให้สมเหตุสมผล กับทรัพยากรที่เสนอขอ และเวลาที่จะใช้ จำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
· 1.วัตถุประสงค์ทั่วไป (General Objective) กล่าวถึงสิ่งที่ คาดหวัง (implication) หรือสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการวิจัยนี้ เป็นการแสดงรายละเอียด เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย ในระดับกว้าง จึงควรครอบคลุมงานวิจัยที่จะทำทั้งหมด
· 2. วัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objective) จะพรรณนาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง ในงานวิจัยนี้ โดยอธิบายรายละเอียดว่า จะทำอะไร โดยใคร ทำมากน้อยเพียงใด ที่ไหน เมื่อไร และเพื่ออะไร โดยการเรียงหัวข้อ ควรเรียงตามลำดับความสำคัญ ก่อน หลัง ตัวอย่างเช่น
2.1 เพื่อศึกษาระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน
2.2 เพื่อศึกษารูปแบบการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน
2.3 เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายกับระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน
5.คำถามของการวิจัย (research question)
§ ผู้วิจัยต้องกำหนดปัญหาขึ้น (problem identification) และให้นิยามปัญหานั้นอย่างชัดเจน เพราะปัญหาที่ชัดเจน จะช่วยให้ผู้วิจัย กำหนดวัตถุประสงค์ ตั้งสมมุติฐาน ให้นิยามตัวแปรที่สำคัญๆ ตลอดจน การวัดตัวแปรเหล่านั้นได้
§ ถ้าตั้งคำถามที่ไม่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ตัวก็ยังไม่แน่ใจ ว่าจะศึกษาอะไร ทำให้การวางแผนในขั้นตอนต่อไป เกิดความสับสนได้
§ คำถามของการวิจัยต้องเหมาะสม ( relevant ) หรือสัมพันธ์กับเรื่องที่จะศึกษาเป็นคำถามหลัก (primary research question) เพื่อใช้ในการคำนวณขนาดของตัวอย่าง (sample size)
§ ผู้วิจัยอาจกำหนดให้มีคำถามรอง (secondary research question) ก็ได้ ซึ่งคำถามรองนี้ มีความสำคัญรองลงมา แต่ผลของการวิจัยอาจไม่สามารถตอบคำถามรองนี้ได้ ทั้งนี้เพราะการคำนวณขนาดตัวอย่าง ไม่ได้คำนวณเพื่อตอบคำถามรอง
6.ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (review of related literatures)
§ การทบทวนวรรณกรรมเป็นการเขียนถึงสิ่งที่ผู้วิจัยได้มาจากการศึกษาค้นคว้าเอกสารต่างๆ ทั้งทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ ทฤษฎี หลักการ ข้อเท็จจริงต่างๆ แนวความคิดของผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผลงานวิจัยต่างๆจะทำให้เห็นปัญหาที่จะทำวิจัย รวมทั้งมองเห็นแนวทางในการดำเนินการศึกษา
§ การเขียนการทบทวนวรรณกรรม โดยจัดลำดับหัวข้อหรือเนื้อเรื่องที่เขียนตามตัวแปรที่ศึกษา และในแต่ละหัวข้อเนื้อเรื่องก็จัดเรียงตามลำดับเวลาด้วย เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหา
§ ผู้วิจัยควรสรุปการทบทวนวรรณกรรม เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นความสัมพันธ์ ทั้งส่วนที่สอดคล้องกัน ขัดแย้งกัน และส่วนที่ยังไม่ได้ศึกษาทั้งในแง่ประเด็น เวลา สถานที่ วิธีการศึกษาฯลฯ การเขียนส่วนนี้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการตั้งสมมุติฐานด้วย
7.สมมุติฐาน และกรอบแนวความคิดในการวิจัย * (ไม่จำเป็นต้องมีทุกโครงการ)
§ การตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเนหรือการทายคำตอบอย่างมีเหตุผล มักเขียนในลักษณะ การแสดงความสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น (independent variables) และตัวแปรตาม (dependent variables)
§ สมมติฐานทำหน้าที่เสมือนเป็นทิศทาง และแนวทาง ในการวิจัย จะช่วย เสนอแนะแนวทางในการ เก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป สมมติฐานต้องตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้ครบถ้วนและทดสอบและวัดได้
8.ขอบเขตของการวิจัย
§ เป็นการระบุให้ทราบว่าการวิจัย ที่จะศึกษามีขอบข่ายกว้างขวางเพียงใด เนื่องจากผู้วิจัยไม่สามารถทำการศึกษาได้ครบถ้วนทุกแง่มุมของปัญหานั้น จึงต้องกำหนดขอบเขตของการศึกษาให้แน่นอน ว่าจะครอบคลุมอะไรบ้าง ซึ่งอาจทำโดยการกำหนดขอบเขตของเรื่องให้แคบลงเฉพาะตอนใด ตอนใดตอนหนึ่งของสาขาวิชา หรือกำหนดกลุ่มประชากร สถานที่วิจัย หรือระยะเวลา
9.การให้คำนิยามเชิงปฏิบัติที่จะใช้ในการวิจัย (operational definition)* (ไม่จำเป็นต้องมีทุกโครงการ)
§ ในการวิจัย อาจมี ตัวแปร (variables) หรือคำ (terms) ศัพท์เฉพาะต่างๆ ที่จำเป็นต้องให้คำจำกัดความอย่างชัดเจน ในรูปที่สามารถสังเกต (observation) หรือวัด (measurement) ได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจมีการแปลความหมายไปได้หลายทาง ตัวอย่าง เช่น คำว่า คุณภาพชีวิต, ตัวแปรที่เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ, ความพึงพอใจ, ความปวด เป็นต้น
10.ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัย (expected benefits and application)
§ อธิบายถึงประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้จริง ในด้านวิชาการ เช่น จะเป็นการค้นพบทฤษฎีใหม่ ซึ่งสนับสนุนหรือ คัดค้านทฤษฎีเดิม และประโยชน์ในเชิงประยุกต์
§ เช่น นำไปวางแผนและกำหนดนโยบายต่างๆ หรือประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อหาแนวทางพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นต้น โดยครอบคลุม ทั้งผลในระยะสั้น และระยะยาว
§ ทั้งผลทางตรง และทางอ้อม และควรระบุว่า ผลประโยชน์เกิดกับใคร เป็นสำคัญ เช่น โครงการวิจัย ประสิทธิผลของการออกกำลังกายกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชุมชนสวนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พ.ศ... ส่วนผลกระทบ (Impact) โดยตรง ในระยะยาว ก็อาจเป็น คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น ที่ดีขึ้น ส่วนผลทางอ้อม ได้แก่ การกระตุ้นให้ผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกาย เป็นต้น
11.ระเบียบวิธีวิจัย (research methodology )
เป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยว่าแต่ละขั้นตอนจะทำอย่างไร โดยทั่วไป ดังนี้
§ วิธีวิจัย จะเลือกใช้วิจัยแบบใด จะใช้การวิจัยเอกสาร การวิจัยแบบทดลอง การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือจะใช้หลายๆวิธีรวมกัน ซึ่งก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้วิธีอะไรบ้าง
§ แหล่งข้อมูล จะเก็บข้อมูลจากแหล่งใดบ้าง เช่น จะเก็บข้อมูลทุติยภูมิ จากทะเบียนราษฎร์ สมุดสถิติรายปี สำมะโนประชากรและเคหะ ฯลฯ หรืออาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิ จากการสำรวจ การสนทนากลุ่ม การสังเกต การสัมภาษณ์ระดับลึก ฯลฯ เป็นต้น
§ ประชากรที่จะศึกษา ระบุให้ชัดเจนว่าใครคือประชากรที่ต้องการศึกษา และกำหนดคุณลักษณะของประชากรที่จะศึกษาให้ชัดเจน เช่น เพศ อายุ สถานภาพสมรส ศาสนา เขตที่อยู่อาศัย บางครั้งประชากรที่ต้องการศึกษาอาจไม่ใช่ปัจเจกบุคคลก็ได้ เช่น อาจเป็นครัวเรือน หมู่บ้าน อำเภอ ฯลฯ ก็ได้ ทั้งนี้ต้องมีการระบุเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครเข้าสู่โครงการวิจัย (Inclusion criteria) เกณฑ์การคัดอาสาสมัครออกจากโครงการวิจัย (Exclusion criteria) เกณฑ์การนำอาสาสมัครออกจากโครงการวิจัย (Withdraw of participant criteria) และเกณฑ์การยุติโครงการวิจัย (Early termination of study criteria) ด้วย
§ วิธีการสุ่มตัวอย่าง ควรอธิบายว่าจะใช้วิธีการสุ่มแบบใด
§ วิธีการเก็บข้อมูล ระบุว่าจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไร มีการใช้เครื่องมือและทดสอบเครื่องมืออย่างไร เช่น จะใช้วิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ การสัมภาษณ์แบบมีแบบสอบถาม การสังเกต หรือการสนทนากลุ่ม เป็นต้น
§ การประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ระบุว่าการประมวลผลข้อมูล จะทำอย่างไร จะใช้เครื่องมืออะไรในการประมวลผลข้อมูล และในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือทดสอบสมมุติฐานจะทำอย่างไร จะใช้สถิติอะไรบ้างในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้สามารถตอบคำถามของการวิจัยที่ต้องการได้
12.ระยะเวลาในการดำเนินงาน
§ ผู้วิจัยต้องระบุถึงระยะเวลาที่จะใช้ ในการดำเนินงานวิจัยทั้งหมดว่าจะใช้เวลานานเท่าใด และต้องระบุระยะเวลาที่ใช้สำหรับแต่ละขั้นตอนของการวิจัย (การวิจัยใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน) อาจทำได้ 2 แบบ ตามที่แสดงไว้ในตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1
ก. ขั้นตอนการเตรียมการ : ค้นหาชื่อเรื่องหรือปัญหาที่จะทำ (3 เดือน)
ข. ขั้นตอนการเก็บข้อมูล (2 เดือน)
ค. ขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (3 เดือน)
ง. การเขียนรายงาน และการเผยแพร่ผลงาน (4 เดือน)
ตัวอย่างที่ 2 ตารางปฏิบัติงานโดยใช้ Grant Chart