รู้หรือไม่? คำไทยที่เรามักใช้ผิดไม่ได้มีแค่…คะ ค่ะ

 

 

 

#

 

สวัสดีค่ะ วันนี้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ทุกคนอาจจะสงสัยว่าวันนี้เป็นวันอะไร มีความสำคัญอะไรหรือเปล่า? บอกได้เลยว่ามี! 

เพราะวันนี้เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ซึ่งถ้าพูดถึงปัญหาการใช้คำไทยในปัจจุบันคงไม่พ้นคำลงท้ายที่ทุกคนคุ้นเคย และเป็นประเด็นถกเถียงกันมากมาย อย่างเช่นคำว่า คะ’ ‘ค่ะ’ ‘นะคะ’ ‘น่ะค่ะ ที่จนถึงวันนี้คนก็ยังคงใช้ผิดและสับสนกันมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าคำที่เราใช้ผิดไม่ได้มีแค่คะ’ ‘ค่ะนะ! คำอื่นๆ ที่เห็นใช้ผิดกันบ่อยๆ ก็มี เช่นคำว่า…

 

มั่ง - มั้ง

มั่ง เป็นคำกริยาที่แปลว่า มี มีมาก เช่น มั่งมี มั่งคั่ง หรือ เป็นคำวิเศษณ์ที่เป็นภาษาปาก ที่แปลว่า บ้าง เช่น ขอมั่งซิ

ซึ่งเพื่อนๆ มักจะสับสนกับคำว่า มั้ง ที่เป็นภาษาปาก ที่สื่อถึงความไม่แน่ใจ  เช่น ไม่เป็นไรมั้ง ไม่ไหวหรอกมั้ง

ข้อควรรู้เพิ่มเติม ม.ม้าจัดอยู่ในอักษรเสียงต่ำ การใช้วรรณยุกต์ จะมีแค่ 3 รูป ไม่มีการใช้ไม้ตรีและจัตวานะจ๊ะ

 

คะ - ค่ะ / วะ - ว่ะ / ละ - ล่ะ

ที่ธัญญ่ารวมไว้ในข้อเดียวกันก็เพราะทั้ง 3 คำมีจุดเหมือนกัน คือ มีพยัญชนะต้นเป็นอักษรเสียงต่ำและเป็นคำตาย สระเสียงสั้น ซึ่งจะสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้แค่ 2 รูป 3 เสียงเท่านั้น

           

คะ - ค่ะ

คะ คือ คำลงท้ายที่ออกเสียงเป็นเสียงตรี ใช้ลงท้ายกับประโยคที่เป็นประโยคคำถาม หรือ เรียกด้วยความสุภาพ เช่น พี่คะ ทำอะไรอยู่คะ อ่านนิยายสนุกไหมคะ

ค่ะ คือ คำลงท้ายที่ใช้วรรณยุกต์เอกแต่ออกเสียงโท ใช้ลงท้ายประโยคที่เป็นประโยคบอกเล่า หรือ ตอบรับ - ตอบคำถาม รวมถึงการทักทายที่เราใช้กันทุกวัน เช่น สวัสดีค่ะ ไม่รู้ค่ะ ได้ค่ะ ตกลงค่ะ เป็นต้น

อีกคำหนึ่ง ที่เราใช้ในประโยคบอกเล่า หรือการตอบรับ - ตอบคำถาม คือคำว่า นะคะ ที่มีเสียงตรีเหมือนคำว่าคะแต่จะอยู่ในรูปสามัญเท่านั้นเหมือนกัน เช่น ไปก่อนนะคะ โชคดีนะคะ ขอบคุณมากๆ เลยนะคะ  เป็นต้น

 

วะ - ว่ะ

วะ คำลงท้ายที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันบ่อยๆ เวลาพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง หรือเวลาอ่านนิยายก็จะเจอในบทสนทนาของตัวละคร คือ คำลงท้ายที่ออกเสียงสูง และการใช้ก็เช่นเดียวกับคำว่าคะเช่น ไปไหนวะ ทำไรวะ หาอะไรอยู่วะ

เพราะฉะนั้นเวลาใช้ ไม่ต้องไปเติมไม้เอกให้นางนะจ๊ะ

ส่วนคำว่า ว่ะ ก็คือคำลงท้ายที่ออกเสียงต่ำ และการใช้ก็เช่นเดียวกับคำว่าค่ะเช่น ไม่รู้ว่ะ จะไปกินข้าวว่ะ อยากกินขนมว่ะ  เป็นต้น

 

ละ - ล่ะ

ละ เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า แหละเช่น เท่านั้นละ (แหละ) เอาอย่างนี้ละ (แหละ)  ดีแล้วละ (แหละ)  เป็นต้น

 

ล่ะ ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะไปไหนล่ะ (เล่า) กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า)  ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ (เล่า)   เป็นต้น

 

ปะ - ป้ะ

ปะ - ป้ะ ทั้งสองคำใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เปล่าแต่มีการออกเสียงที่ต่างกัน ที่ทำให้ความหมายต่างกันไป เช่น จะไปไหนปะ (เปล่า)  กินข้าวด้วยกันปะ (เปล่า) เป็นต้น

ข้อควรรู้เพิ่มเติม เนื่องจากป.ปลา เป็นอักษรกลาง ผันวรรณยุกต์ได้ ๕ เสียงก็จริง แต่ถ้าผสมสระเสียงสั้นก็จะเป็นคำตาย เป็นเสียงเอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีไม้เอกนะจ๊ะ เช่น ไม่ได้ปะ มีไรปะ เป็นต้น

           

ทีนี้ เพื่อนๆ ก็ทราบถึงความหมายและการเขียนที่ถูกต้องกันแล้ว และสามารถนำไปใช้ในงานเขียน เพื่อให้นิยายของเรามีภาษาที่ถูกต้อง สละสลวย ถูกใจนักอ่าน และโดนใจบก.กันไปเลย

 

ถึงแม้ว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาที่ยังไม่ตาย และยังมีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา 

แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็ควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ควรละเลยกันนะจ๊ะ

 

 

 

8.9kอ่านประกาศ 2020-07-30T04:53:23.2670000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น