นิยายนั้นหนา...คือ ยาวิเศษ!

 

นิยายนั้นหนา...คือ ยาวิเศษ!

รู้จักกับหลากหลายแง่มุมของ #โรคซึมเศร้า ผ่านการอ่านนิยาย

 #

 

ทุกคนเคยได้ยินเรื่อง การอ่านบำบัด ไหมคะ?

 

การอ่านทำให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่น พลังของเรื่องราวทำให้เราจินตนาการ เห็นคุณค่าของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรื่องของตัวเราอย่างสัมผัสได้ นี่คือผลชัดเจนที่ได้จากอ่านหนังสือประเภท ‘วรรณกรรม’

-          ลลิ จิตตสิงห์ -

 

 การบำบัดด้วยหนังสือ หรือ บรรณบำบัด (Bibliotherapy) ถูกคิดค้นและนำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อบำบัดผู้ป่วยโรคต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือโรคทางจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มองเห็นปัญหาและทำความเข้าใจปัญหาของตนเองจนเกิดความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา สรุปง่ายๆ คือ เป็นการให้คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวผ่านหนังสือนั่นเองค่ะ

 

แล้วธัญญ่าเกริ่นมาอย่างนี้จะเกี่ยวกับอะไรกันน้า~

ก็วันนี้! ธัญญ่าตั้งใจจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ #โรคซึมเศร้า ผ่านเรื่องราวจากนิยายกันค่ะ เพราะการอ่านให้ผลดีกับผู้อ่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่ใฝ่รู้เกี่ยวกับโรคนี้ก็ตาม

เมื่ออ่านจบ ธัญญ่าเชื่อว่าเราจะต้องมีความเข้าใจทั้งในตัวเองและในตัวผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อผู้ป่วยโรคนี้อย่างแน่นอนค่ะ ว่าแต่ว่า...นิยายที่ธัญญ่าเลือกมาในวันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคซึมเศร้าและให้ข้อคิดในแง่ไหนกันบ้างนะ ไปดูกันเล้ย! 




Whale's nightmare จักร’วาฬ’พระจันทร์ยิ้ม  เขียนโดย  ลิตเติ้ลมักเกิ้ล


 

เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้

แต่เราเลือกที่จะพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นเพื่อเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้

 

 

Whale's nightmare จักร’วาฬ’พระจันทร์ยิ้ม เป็นเรื่องราวความรักสุดละมุนสีนวลๆ ของ ‘พี่พระจันทร์ยิ้ม’ ผู้แสนอบอุ่นกับ ‘น้องเจ้าวาฬ’ ผู้โดดเดี่ยวเหมือนกับ วาฬบาลีน 52 Hz ที่ว่ายน้ำเดียวดายอยู่กลางท้องทะเล เพราะคลื่น 52 Hz ที่ใช้สื่อสารในหมู่วาฬของมันมีค่าสูงเกินกว่าที่วาฬทั่วไปจะรับได้...วาฬตัวอื่นจึงไม่เคยได้ยินเสียงหรือรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันเลย

‘เจ้าวาฬ’ เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการรักษาตนเองของผู้ป่วยเพื่อให้หายจากโรคซึมเศร้า โดยมี ‘พี่พระจันทร์ยิ้ม’ ผู้เป็นตัวแทนแห่งขวัญกำลังใจที่อยู่เคียงข้างเจ้าวาฬเสมอไม่ว่าเขาจะเป็นทุกข์หรือมีสุขอยู่ก็ตาม กำลังใจที่ทำให้ผู้ป่วยกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ อย่าง เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยดี   

‘เจ้าวาฬ’ คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่แสดงให้เห็นว่า กำลังใจมีอยู่รอบๆ ตัวเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกหยิบยกสิ่งใดมาเป็นแรงผลักดันให้กับตนเองเพื่อหลุดพ้นจากความมืดมิดที่กัดกินหัวใจ เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เราเลือกที่จะพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นเพื่อเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ 

นอกจากนั้น นิยายเรื่องนี้ทำให้ธัญญ่าเข้าใจด้วยว่า การมีกำลังใจที่ดีคือสิ่งสำคัญที่สุดในการเยียวยาผู้ป่วย เพราะช่วยให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของตนเอง  รู้สึกมีความหมายในการใช้ชีวิต มีความหวังที่จะหลุดออกจากบ่วงแห่งความทุกข์ในอดีต ท้ายสุดแล้ว เรื่องนี้ก็ทำให้รู้ว่า ความเศร้าและความโดดเดี่ยวย่อมแทนที่ได้ด้วยการเติมเต็มจากความรัก ^^

 

‘หลังจากที่ได้รับรอยยิ้มสดใสจากเค้า พันธะสัญญาระหว่างเราก็ถูกสร้างขึ้นในใจ มันคงจะดีกว่าถ้าหากว่าผมจะไม่ปล่อยให้เขาสู้อยู่คนเดียว

จับมือกัน...ไปด้วยกัน’

- พี่พระจันทร์ยิ้ม -



Still the One ...คือคนที่ผมรัก  เขียนโดย  ชิวู

#

ความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จงหาวิธีอยู่กับมัน

 

Still the One ...คือคนที่ผมรัก เรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัว เมื่อโรคซึมเศร้ามีอิทธิพลต่อจิตใจจนส่งผลกระทบต่อร่างกายเกิดเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆ ตามมา

‘ปอนด์’ เป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงการตกเป็นเหยื่อของความเศร้า ความสูญเสียที่ทำให้ปอนด์ต้องสูญเสียตัวตนตามไปด้วย ปอนด์ไม่สามารถกลับไปร้องเพลงได้เหมือนเดิมเนื่องจากความเครียดส่งผลไปยังเส้นเสียง (Dysphonia) ทำให้เสียงของปอนด์เปลี่ยนไปจนถูกตั้งฉายาว่า เป็ด

จากนักร้องอาชีพ… ‘ปอนด์’ กลายเป็นคนที่หวาดกลัวการร้องเพลงมาตั้งแต่นั้น

แต่อย่าเพิ่งเศร้ากันไปค่ะ! เพราะความน่ารักได้เกิดขึ้นหลังจากนี้เอง เมื่อปอนด์ได้พบกับ‘พี่เฟิร์ส’คนที่เชื่อมั่นอย่างจริงใจในตัวปอนด์ คนที่มักจะเข้ามาใกล้ๆ ปอนด์อยู่เรื่อย คนที่ชอบคะยั้นคะยอให้เขาร้องเพลง ทั้งๆ ที่เสียงเป็ดแบบนี้ก็ยังยืนยันว่าอยากจะฟังให้ได้ ถึงจะแพนิคยังไง ตอนได้ยินว่ามีคนรอฟังเสียงเขาอยู่มันก็ต้องมีกระชุ่มกระชวยหัวใจคนป่วยกันบ้างล่ะน่า ><  แต่จะถึงขั้นกล้ากลับมาจับไมค์ให้ไฟส่องหน้าอีกครั้งไหมนั้น ต้องไปลุ้นในเรื่องกันเอาเองนะคะ ^^

‘ปอนด์’ คือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า ความสุขและความทุกข์นั้นคือเรื่องธรรมดาในชีวิต มันเข้ามาแล้วมันก็ผ่านไป มันทำให้เราเสียใจแค่ไหน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะหัวเราะไปกับมันด้วย เพราะในเมื่อเราหลีกเลี่ยงมันไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีอยู่กับมัน 

นิยายเรื่องนี้ยังทำให้ธัญญ่ารับรู้ได้ถึงความรักจากคนรอบข้างที่พยายามผลักดันให้ผู้ป่วยได้กลับไปทำในสิ่งที่ตนรักเพื่อเรียกความมั่นใจของตนเองกลับคืนมา ให้ผู้ป่วยได้เห็นถึงความสามารถและภูมิใจในคุณค่าของตนเอง ความสามารถที่ไม่เคยสูญหายไปไหนแต่ถูกบดบังไว้ด้วยม่านแห่งความหวาดกลัว ซึ่งทุกๆ คนทำได้เพียงชี้ทางและให้กำลังใจ เพราะมีเพียงผู้ป่วยเท่านั้นค่ะที่จะเปิดม่านในใจของตนออกมาสู่แสงสว่างได้

 

‘พี่แค่อยากทำให้เป็ดมีความสุข พี่อยากให้เป็ดก้าวข้ามเรื่องในอดีตที่มันโหดร้าย และพี่ไม่ได้บอกเลยว่าพี่อยากให้เป็ดร้องเพลงเพราะๆ พี่แค่...อยากให้เป็ดได้ร้องเพลงอย่างที่เป็ดทำได้และมีความสุข’

- พี่เฟิร์ส -





ผู้ป่วยทางจิต " Mental Patients "  เขียนโดย  Hunny Exo

 

เราแยกแยะและเลือกได้ว่าใครควรมีอิทธิพลกับชีวิตเรา

ระหว่างคนที่รัก หวังดีกับเรา...หรือคนที่เกลียด

 

ผู้ป่วยทางจิต Mental Patients เป็นนิยายที่มีการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลภายนอกและผู้ป่วยทางจิต

มุมมองของบุคคลภายนอกที่มักตัดสินผู้ป่วยทางจิตอย่างเหมารวม คนทั่วไปจะรู้สึกว่าผู้ป่วยทางจิตนั้นน่ากลัว เพราะไม่รู้ว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ไม่รู้ว่าอาการจะกำเริบขึ้นมาตอนไหน หรือเมื่อมีอาการแล้วจะร้ายแรงมากถึงขั้นใด

ในขณะที่สะท้อนมุมมองของผู้ป่วยว่า แท้จริงแล้วผู้ป่วยก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับคนทั่วไป แต่ต่างกันที่ประสบการณ์ในอดีตคือสิ่งที่เปลี่ยนให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่รุนแรงต่างไปเมื่อผู้ป่วยถูกกระตุ้น

จากในนิยายหมอพีม’ คือตัวละครที่ทำให้ธัญญ่าเข้าใจได้เลยว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ ค่ะ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนคนหนึ่งจะเคยผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรมาบ้าง ถ้าเราลองเปิดใจรับฟังความรู้สึกของเขาดู บางที เราอาจจะพบว่า เรื่องราวของเขาคนนั้นน่าเห็นใจกว่าที่เราคิดก็ได้นะ เหมือนกับ‘กร’ ตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงการตกเป็นเหยื่อจากปัญหาครอบครัวและการถูกตอกย้ำปมด้อยทำให้กรแสดงออกด้วยการประชดชีวิต แต่นักเขียนก็ได้แสดงข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านนิยายไปยังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยว่า ในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย นอกจากคนรอบข้างต้องเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจกับความคิด ความรู้สึกของผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องเปิดใจให้คนรอบข้างด้วยการไม่สร้างทัศนคติในแง่ลบว่าไม่มีใครช่วยตนเองหรือเข้าใจตนเองได้เหมือนกัน

เพราะผู้คนรอบข้างที่รักและหวังดี อยากให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากความรู้สึกเลวร้ายเพื่อมีความสุขกับปัจจุบันก็ยังมีอยู่นะ ^^

ขณะเดียวกัน ‘กร’ ก็เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่แสดงให้เห็นว่า ในสังคมรอบข้างของเรานั้น รายล้อมไปด้วยคนที่รักและคนที่เกลียดเรามากมาย คนที่รักก็พร้อมที่จะชักนำเราสู่เส้นทางที่สดใส คนที่เกลียดก็พร้อมที่จะเหยียบย่ำเราให้จมดิน และเมื่อเราแยกแยะได้ว่าใครรักใครเกลียด เราก็ย่อมเลือกได้เหมือนกันว่าใครควรมีอิทธิพลในชีวิตเรามากที่สุด 

อ๊ะๆ! เห็นธัญญ่าร่ายมาหนักหน่วงขนาดนี้ก็อย่าเพิ่งคิดไปว่าเนื้อหาในเรื่องจะหนักหน่วงเกินนะคะ  เพราะนี่เป็นแค่เกร็ดที่แทรกๆ อยู่ในเรื่องที่ธัญญ่ากลั่นกรองมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกันเท่านั้นค่ะ
แต่เนื้อเรื่องจริงๆ แล้ว...เอาเป็นว่า ใครที่ชอบแนวพระเอกเย็นชา มีปม กับนายเอกผู้ไม่สู้แล้วยังอ่อนข้อเพื่อให้พระเอกยอมให้ตัวเองรักษาเนี่ย~ ( โอยย หมอจะทุ่มเทกับงานเกินไปแล้ว!! ><) นิยายเรื่องนี้ก็เข้าทาง
รีดเดอร์แล้วล่ะค่ะ ฮ่าๆๆ

 

‘ความเจ็บปวด...ใครๆ ก็ต้องรับรู้ถึงมันได้ว่าจะมากหรือน้อย...ผมเองก็รู้สึกถึงมันได้เหมือนกัน...คุณต้องยอมรับมันไว้บ้าง ความเจ็บปวดในอดีตน่ะ...ลองรับมันไว้...และถ้ารับมันได้เต็มที่แล้ว...ก็ต้องปล่อยวาง’

- หมอพีม -

 

แล้วคุณล่ะคะ เคยรู้สึกว่างเปล่า โดดเดี่ยวแม้อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายไหม บางครั้งก็เศร้าโดยไม่มีสาเหตุ...ความรู้สึกเศร้าอาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้หลายๆ คนที่มีภาวะซึมเศร้ามักไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วยอยู่ และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจถึงขั้นรุนแรงเกินควบคุมไปแล้ว ว่าแต่...โรค
ซึมเศร้านี่คืออะไรกันนะ ธัญญ่าจะมาอธิบายให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆ กันค่ะ

โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับเศร้าเสียใจแบบทั่วไป แต่ผลกระทบของโรคนี้นั้นรุนแรงและยาวนานกว่ามากซึ่งส่งผลทั้งทางกาย ทางใจ ความคิด และการดำเนินชีวิต เช่น พฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนไป รู้สึกกังวล หดหู่ คิดว่าตนเองไร้ความหมายและไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีพอ เป็นต้น

ในทางการแพทย์กล่าวว่า โรคซึมเศร้าไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่ปัจจัยหลักๆ คือ เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และพฤติกรรมของบุคคล วิธีหลักในการรักษาจึงเป็นการใช้ยาต้านเพื่อปรับสารเคมีในสมอง ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เหล่าแพทย์และนักวิจัยหลายท่านจึงได้มีการคิดค้นวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ซึ่งหนึ่งในการค้นพบที่ให้ผลดีอย่างชัดเจนต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ ‘การอ่านหนังสือ’

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 3 นิยายสะท้อนแง่คิดโรคซึมเศร้าที่ธัญญ่าเอามาฝากกันในวันนี้ หวังว่าเมื่อทุกคนได้อ่านกันแล้ว จะมีความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อโรคนี้มากขึ้นนะคะ เพราะ การอ่าน จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นความเป็นไปของสังคม เข้าใจสังคม และเชื่อมโยงกับสังคม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมและจิตใจของตนเอง

 

‘ความรู้สึกเชื่อมโยงกับสังคม คือความต้องการของมนุษย์ที่เข้มข้น  เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกเชื่อมต่อกับ
ผู้อื่นได้ เราจะรู้สึกดีกับเรื่องทั่วๆ ไป และยิ่งจะรู้สึกดีกับชีวิตของตัวเอง’

 

- Shira Gabriel และ Ariana F.Young -

 

ถ้าเพื่อนๆ มีความคิดเห็นหรือว่าใครเคยมีประสบการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับโรคนี้อย่างไร รวมทั้งใครมีนิยายแง่คิดดีๆ เรื่องอื่นที่อยากมานำเสนอ ก็อย่าลืมคอมเมนต์แลกเปลี่ยนหรือเล่าประสบการณ์ให้ธัญญ่าและทุกคนได้ลองอ่านเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นด้วยนะคะ

เพราะ การอ่าน ย่อมให้ประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนเสมอ ไม่ว่าจะในแง่ไหนก็ตาม ^^




ขอบคุณข้อมูลจาก

www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/depression-type

www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29531

www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29585

www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=1831

www.honestdocs.co/most-common-psychiatric-disorders



3.4kอ่านประกาศ 2020-01-05T13:09:11.2700000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น