เสกนิยายดั่งใจฝัน
"อยากแต่งนิยายสักเรื่องแต่ทำไมมันยากจัง?"
"แต่งมาดีแล้วเชียว แต่ทำไมถึงแต่งตอนจบไม่ได้ล่ะ?"
"พล็อตนิยายแบบนี้มันซ้ำกับคนอื่นหรือเปล่านะ?"
ใครที่เกิดคำถามเหล่านี้ในหัว วันนี้ธัญญ่าจะพามาดูคร่าวๆ ว่าการที่จะ ‘เสกนิยายดั่งใจฝัน’ ได้นั้น ว่าที่นักเขียนอย่างเราควรเตรียมตัวยังไงกันบ้าง
1. อ่านให้เยอะ
เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะว่ายิ่งเราอ่านเยอะเท่าไหร่ จินตนาการเราก็จะเปิดกว้างขึ้นเท่านั้น จะเห็นว่านักเขียนนิยายดังๆ หลายคนก็ผันตัวมาจากการเป็นนักอ่านนะจ๊ะ เช่น นักเขียนชื่อดังอย่าง สตีเวน คิง (Stephen King) นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญชาวอเมริกัน ที่ผลงานของเขาถูกนำไปสร้างเป็นบทภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง!
สตีเวน คิง
สตีเวนบอกว่า
“มีสองสิ่งที่ควรทำเมื่อจะเป็นนักเขียนคือ..อ่านให้เยอะ และเขียนให้มาก
ไม่มีอะไรที่ผมให้ความสำคัญเท่าสองสิ่งนี้”
และทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรอ่านให้หลากหลายแนวเข้าไว้เพื่อเป็นการหาแนวทางให้กับตัวเอง เพราะการที่เราได้อ่านนิยายหลากหลายแนวจะทำให้เราได้ซึมซับและรู้ตัวเองมากขึ้นว่าเราถนัดใช้วิธีการเขียนแบบไหนและนิยายของเราควรจะไปในทิศทางใดนั่นเองแต่ธัญญ่าแนะนำว่าอ่านเพื่อเปิดโลกจินตนาการเท่านั้นจะดีกว่า ให้เป็นทางที่ช่วยผลักดันแรงบันดาลใจ อย่าคัดลอกหรือก็อปมาเลยค่ะ อันนี้ไม่ดีแน่ๆ
2. แรงบันดาลใจ
พูดง่ายแต่จะไปหามาจากที่ไหนได้บ้างล่ะ?
สำหรับธัญญ่า บางครั้งแค่เพียงมองไปข้างหน้าก็เกิดแรงบันดาลใจแล้วค่ะ สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะเริ่มหาแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันนั้นธัญญ่าแนะนำให้ลองอ่านนิยาย ดูหนัง ฟังเพลง ออกไปเปิดหูเปิดตานอกสถานที่ดูบ้าง เพราะว่าแรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลานั่นเอง และไม่เว้นแม้แต่ใน ‘ความฝัน’
นักเขียนหลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการหยิบเอาแรงบันดาลใจจากความฝัน มาสร้างเป็นผลงาน อย่างเช่น แมรี่ เชลลี่ย์ ผู้เขียนนิยายเรื่อง ‘แฟรงเกนสไตน์’ ก็เขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาจากความฝันเช่นกัน
ถือว่าเด็ดพอๆ กับฝันเห็นเลขเด็ดเลยค่ะ ใครที่อยากลองหาแรงบันดาลใจจากความฝัน ธัญญ่าแนะนำให้หากระดาษกับปากกามาวางไว้ข้างๆ หมอน แบบว่าพอสะดุ้งตื่นปุ๊บ ตั้งสติแล้วจดลงกระดาษปั๊บเลย อาจจะได้พล็อตนิยายที่ปังสุดๆ ก็ได้นะคะ ใครจะรู้!
3. พล็อตสุดปัง
ถ้าบางคนยังงงๆ ว่าพล็อตคืออะไร ธัญญ่าขออธิบายสั้นๆ ว่า ‘พล็อต’ หรือ ‘โครงเรื่อง’ หมายถึง เนื้อหาสาระสำคัญของเรื่องที่ครอบคลุมเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ อาจจะมีความซับซ้อนและมีการผูกเรื่องให้น่าสนใจ
แต่พล็อตนิยายในโลกนี้มีไม่รู้กี่ร้อยกี่พันพล็อต พล็อตแบบไหนกันนะที่จะปัง?
จากที่ธัญญ่าเคยอ่านนิยายมาหลายเรื่องและหลายแนว ธัญญ่าก็พอจะจับทางได้ว่านิยายที่สนุกและน่าติดตามนั้นต้องเป็นเรื่องที่นักเขียนผูกปมความขัดแย้งของเรื่องได้ดี ไม่ว่าจะเป็นปมหลักหรือปมย่อย และการดำเนินเรื่องภายใต้ปมความขัดแย้งนั่นแหละที่จะเป็นตัวตัดสินว่านิยายเรื่องนั้นสนุกหรือไม่
การวางพล็อตที่ดีต้องมีการวางลำดับเรื่องตั้งแต่ต้นเรื่อง กลางเรื่อง จนกระทั่งจบเรื่อง อันดับแรกธัญญ่าแนะนำให้วางเป้าหมายของเรื่องไว้ก่อนเลยค่ะเพื่อควบคุมทิศทางของนิยาย โดยพล็อตที่ดีนั้นต้องเป็นพล็อตที่นักเขียนมั่นใจว่าสามารถแต่งได้จนจบ และมีเหตุผลมารองรับทุกเหตุการณ์เสมอ แหม ก็นี่มัน 2018 แล้วนี่คะ ถ้าวางพล็อตไม่รัดกุมพอ นักอ่านอ่านแล้วไม่ make sense ก็จบกันล่ะทีนี้ กระซิก
พูดถึงเรื่องการวางพล็อตที่ดีแล้วธัญญ่าก็นึกถึง ‘J.K. Rowling’ เจ้าของผลงานวรรณกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง ‘Harry Potter’ ที่เคยเปิดเผยว่าก่อนจะเริ่มเขียนนิยายสักเรื่อง เธอต้อง ‘วางแผน’ ก่อนเสมอ ซึ่ง เจ.เค. โรว์ลิง ใช้เวลาในการวางพล็อตนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์นานถึง 5 ปีด้วยกัน ตู้หูว นานสะใจไหมล่ะคะ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คุ้มค่าเพราะนิยายของเธอประสบความสำเร็จอย่างร้ายกาจ!
เจ.เค. โรว์ลิง
4. ชื่อเรื่องสุดว้าว
มองข้ามไม่ได้จริงๆ สำหรับชื่อเรื่องเพราะถือว่าเป็นด่านแรกที่คนอ่านจะมองและให้ความสนใจนิยายของเรา ดังนั้นการตั้งชื่อที่มีเอกลักษณ์ สะดุดตา และมีความน่าสนใจก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของนิยายค่ะ แต่ทำยังไงถึงจะน่าสนใจกันล่ะ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักเขียนแต่ละคนแล้วว่าต้องการจะดึงจุดเด่นอะไรออกมานำเสนอผ่านชื่อเรื่อง เช่น ถ้าต้องการชูตัวละครเอกก็สามารถตั้งชื่อตามชื่อตัวละครได้เลย จะเห็นว่าหลายๆ เรื่องนั้นประสบความสำเร็จเสียด้วยสิคะ เช่นสองเรื่องด้านล่างนี้เป็นต้น
นอกจากตั้งตามชื่อตัวละครแล้ว ความคล้องจองก็สำคัญไม่หยอก เพราะคนเรามักจะจำอะไรที่คล้องจองกันได้ง่ายกว่ายังไงล่ะคะ ดังนั้นการตั้งชื่อนิยายให้มีความคล้องจองกันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิยายของเราน่าหยิบมาอ่านนั่นเอง
ทริคการตั้งชื่อเรื่องนั้นค่อนข้างจะหลากหลายทีเดียว ธัญญ่าฝอยทั้งวันก็คงยังไม่หมดเพราะงั้นเอาเป็นว่าชื่อเรื่องที่ดีควรกระชับ มีเอกลักษณ์ หรือถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นชื่อเรื่องที่ดีพอหรือยัง ธัญญ่าก็แนะนำให้ลองเอาให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดช่วยดูก่อนก็ดีเหมือนกันนะคะ อย่างน้อยก็เป็นการตัดสินจากมุมคนนอกไม่ใช่จากตัวนักเขียนอย่างเราเอง
5. เขียนให้จบ
เขียนมาตั้งนานแล้วยังไม่จบสักที! มันติดอยู่ตรงไหนกันนะ?
ใครมาตันตรงนี้ ธัญญ่าขอแนะนำวิธีง่ายๆ เลย ลองย้อนกลับมาดูพล็อตก่อนค่ะว่ามีตรงไหนที่พลาดไปจากที่วางไว้หรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าออกทะเลไปแม้แต่นิดเดียว การจะว่ายกลับเข้าฝั่งนั้นก็ดูจะยุ่งยากกว่าการพยายามไม่ให้โดนคลื่นซัดออกไปตั้งแต่แรกเป็นไหนๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนๆ วางโครงเรื่องไว้ทั้งหมดและรู้จุดมุ่งหมายของเรื่องชัดเจนแล้วล่ะก็ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ การแต่งนิยายให้จบนั้นไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
ฟังดูเหมือนยากแต่เราจะไม่มีวันรู้ว่ามันยากแค่ไหนจนกว่าจะได้ลงมือทำมัน ฮั่นแน่! คมบาดใจสุดๆ ไปเลยใช่ไหมล่ะคะ ยังไงธัญญ่าก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน อย่าเพิ่งทิ้งความฝันของตัวเอง ถ้าตั้งใจจะเดินตามความฝันแล้วล่ะก็วางแผนเส้นทางมุ่งสู่ฝันให้ดีและทำมันให้สำเร็จนะคะ อยากจบแบบสวยๆ บ้างอะ งั้นขอทิ้งท้ายด้วยประโยคคมๆ จากนักเขียนชาวไทยที่ประสบความสำเร็จกันบ้างดีกว่า เขาคนนั้นก็คือเจ้าของนามปากกา ‘นิ้วกลม’ นั่นเองค่ะ
"ถ้าฝันที่เราสามารถเดินไปถึงได้
แต่เราไม่ได้พยายามพัฒนาตัวเองหรือพยายามวิ่งที่จะไปให้ถึง
ได้เพียงแต่ยืนมองดูเฉยๆ จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
เพราะความสำคัญของความฝันคือจุดหมายที่สร้างความตื่นเต้นให้กับชีวิต"
- นิ้วกลม -
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.se-ed.com/,
https://blog.eduzones.com/sutthida/177975,
http://happinessisthailand.com/2017/03/
แชร์เลย
4kอ่านประกาศ 2018-05-20T06:04:06.9030000+00:00ลงประกาศ
กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น