ราชการลับ ตอนที่ 10
0
ตอน
263
เข้าชม
11
ถูกใจ
0
ความคิดเห็น
0
เพิ่มลงคลัง

สิทธิเดช บุณฑริกาเป็นบุตรคนที่สองของนายวันชัยและนางมัทนี พ่อของสิทธิเดชในอดีตเป็นหัวหน้าภาควิชาโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ครอบครัวบุณฑริกามีลูกชาย 2 คน คนโตสิทธิศักดิ์รับราชการอยู่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

สิทธิเดชสมรสกับปิติมาญาติห่างๆ ของมัทนีแม่ของเขา ภรรยาปิติมาให้กำเนิดลูกสาว 2 คนปาณิสาและ  สมิตาทั้งสองคนอายุไล่เรี่ยกัน 13 และ 12 ปี เวลานี้เรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติที่เมืองอะเบอร์ดีนในความดูแลของครอบครัวแอนดรูว์ บาร์ทลี่ย์เพื่อนชาวสก๊อตที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับเขาที่เคมบริดจ์

สิทธิเดชมีบุคลิกดี เป็นหนุ่มใหญ่ สุภาพบุรุษหน้าตายิ้มแย้มอยู่เสมอ รูปร่างสมส่วนไม่สูงนัก ผิวขาวแต่งตัวดี มีรสนิยมสมเป็นนักการทูต ผ่านการทำงานในกระทรวงต่างประเทศเป็นเลขานุการทูตหลายแห่งและเป็นอธิบดีมาสองกรมเป็นเอกอัครราชทูตมา 2-3 ประเทศ ก่อนและจะมาเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิสราเอล  ครั้งหนึ่งสถานทูตสหรัฐฯมีการเชิญทูตทหารสองสามประเทศร่วมงาน สิทธิเดชได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอลซึ่งควบคุมหน่วยงานสืบราชการลับมอสสาด รัฐมนตรีท่านนี้กล่าวกับเขาว่าในการข่าวนั้น "คน" สำคัญ เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเมื่อเขามารับตำแหน่งผู้อำนวยการการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โทรเลขฉบับแรกๆ ที่ฝากมาผ่านจากสถานทูตอิสราเอลคือจากรัฐมนตรีกลาโหม

ที่เขาเคยพบสมัยที่เป็นทูตที่อิสราเอลนี้เอง รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลหวังว่ามันจะเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิสราเอลด้วย

ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเขาได้รับการติดต่อจากประมุข ศรีวงศ์เพื่อหารือในเรื่องข้อมูลประมุขว่า สิทธิเดชควรรับรู้ก่อนเข้าทำงาน เป็นความลับยังไม่เปิดเผยในองค์กร ทั้งสองตกลงนัดหมายที่จะพบกันที่ห้องอาหารจีนในโรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต

"ผมขอเรียนท่านทูตว่าสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่ทำโดยความคิดร่วมกันของคนสี่คนจากสี่หน่วยงานเมื่อ 8 ปีมาแล้ว 4 หน่วยงานคือสภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรมตำรวจ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติและศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ สี่หน่วยงานนี้ไม่ได้มาร่วมงานนี้โดยตรงนะครับ แต่หัวหน้าหน่วยเริ่มให้มีคณะทำงานพิเศษขึ้นมาคณะหนึ่งคัดสรรจากบุคคลชั้นหัวกะทิจากหน่วยละคนมาเป็นผู้ปฏิบัติงานราชการลับด้านข่าวกรองเรียกว่า Case Officers for Secret Intelligence Operation อักษรย่อว่า COSIO" ประมุขเล่าความเป็นมาของโคซิโอ

"ขณะตั้งสถานการณ์ภายในภายนอกประเทศขาดเสถียรภาพ รัฐบาลเผชิญมรสุมด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, ค่านิยมวัฒนธรรมมีการแทรกซึมจากกลุ่มมาร์กซิสต์ในเมืองและพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท กระทั่งมีนโยบาย 66/23 มาใช้แก้ปัญหา"

"ผมพอเข้าใจครับ...คณะที่ตั้งขึ้นก็ทำอะไรไม่ต่างไปหน่วยงานมีอยู่ด้านข่าวกรองตามปกติ ผมยังไม่เคลียร์" สิทธิเดชตั้งคำถามขณะที่พนักงานเสิร์ฟอาหาร พวกอาหารขนมจีบติ่มซำหลายประเภทรวมทั้งรินน้ำชาให้คนทั้งสอง "นี่แหละครับ...ปัญหาคือองค์กรเราใหญ่ ระบบปฏิบัติการล่าช้าการอนุมัติขั้นตอนมาก    โคซีโอมีความคล่องตัวสูง ภารกิจชัดเจนเป็นงานเฉพาะหน้ามีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว"      ประมุขให้ข้อมูลโดยหลักการ  "ภารกิจที่ผ่านมามีอะไรที่ชัดเจนบ้างครับ ผลเป็นอย่างไร" สิทธิเดชเริ่มซัก

"เราเข้าไปยุติการขายอาวุธให้ต่างชาติรวมทั้งผู้ก่อการร้ายที่ดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุวินาศกรรมอาคารที่ทำการสหประชาชาติในไทยเราก็พยายามติดตามคนร้ายแม้จะไม่ได้ผล และมีภารกิจอื่นๆ ที่เราเข้าไปทำงานในกลุ่มพรรคการเมือง กลุ่มมาร์กซิสต์และกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เพื่อให้ได้ข่าวกรองมาพยุงเสถียรภาพทั้งต่อบ้านเมืองและต่อรัฐบาล" ประมุขอธิบาย

"ผมพอจะเข้าใจละ...แต่ผมก็ยังหวังว่าวิสัยทัศน์ของ 4 องค์กรระดับชาติควรชัดเจนในการชี้นำโคซิโอและการควบคุมโคซิโอน่าจะรัดกุมไม่ให้ทำอะไรทีเกินขอบเขตอำนาจเกินไป...เรื่องนี้ผมคงจะคุยในการพบกับ 4 องค์กรร่วมกันหลังจากนี้นะครับ" สิทธิเดชเข้าใจว่าเขาควรมีบทนำชี้นำได้บ้างในการกำหนด

ทิศทางของ 4 องค์กรและการดำเนินงานของโคซิโอ เขายังไม่ค่อยชัดเจนภารกิจจริงๆ เน้นที่เป้าหมายใด

การพบกันและได้คุยกันระหว่างประมุขกับสิทธิเดชโดยส่วนตัวแม้จะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ลึกๆ ก็มีปัญหา ทัศนะความเห็นหลายอย่างไม่ลงตัวกันนัก

ประมุขมองว่าสิทธิเดชไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการรวมตัวของหัวหน้าหน่วยงาน 4 แห่ง ไม่เคลียร์ภารกิจของโคซิโอ

ส่วนสิทธิเดชมั่นใจว่าเขาเข้าใจในเจตนาดีของประมุขที่อธิบายเรื่องราวการรวมตัวเพื่อทำอะไรที่ดีเพื่อชาติ แต่ยังไม่เชื่อวิธีปฏิบัติภารกิจอาจเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแต่ละองค์กรที่เข้าร่วมกันหรือเปล่า

สิทธิเดชมั่นใจว่าเขาจะได้คำตอบในการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ในอาทิตย์หน้า

                                               ........................................

ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เลขที่ 17 รามอินทรา 10 พ.ย. 2531

ในห้องประชุมเล็กข้างห้องทำงานพลโทเผด็จ การศึก รองผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ

"ขอต้อนรับทุกท่านโดยเฉพาะท่านสิทธิเดช ผ.อ.สำนักข่าวกรองฯ คนใหม่ วันนี้วันแรกของท่านที่ได้มาพบพวกเรา ขอแนะนำคุณบัญชา สนธิกลินท์ นั่งซ้ายมือคนแรกท่านเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคง คนนั่งถัดไปพลตำรวจเอกเกรียงไกร บูรณะธรรม อธิบดีกรมตำรวจ ผมว่าคุณทราบดีอยู่แล้วส่วนทุกคนคงรู้จักคุณสิทธิเดช บุณฑริกา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนใหม่แทนคุณประมุข คุณสิทธิเดชก่อนหน้านี้ท่านเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอิสราเอล เชิญคุณสิทธิเดชครับ"

"ยินดีครับสำหรับวันนี้ได้พบทุกท่าน ผมยังใหม่มากกับงานข่าว แต่ผมยินดีที่จะเรียนรู้จากทุกหน่วย โดยเฉพาะทุกท่านในที่นี้ โดยส่วนตัวผมเป็นคนเปิดเผยสนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประสบการณ์ในการเป็นทูตทำให้รู้ว่าผลประโยชน์ของชาติขึ้นอยู่กับความจริงใจและการต่อรองให้ประเทศของเราเสียเปรียบน้อยที่สุด ทุกประเทศต่างก็จ้องจะเอาเปรียบประเทศอื่นอยู่เสมอ จารชนไม่ได้มีแต่ด้านการเมือง ข่าวกรองที่สำคัญคือเศรษฐกิจสังคมและแม้แต่การศึกษาด้วย ผมจึงคิดว่างานของเรามีหลายมิติ

ประเทศอิสราเอลท่านคงทราบดีกว่าผมว่ามีหน่วยมอสสาด มีอานุภาพและประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ในมอสสาดมีกองรวบรวมข่าวสาร เรียกว่าคอลเล็กชั่นดีพาร์ทเม้นท์ใหญ่ที่สุด เจ้าหน้าที่ประจำโต๊ะและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละภูมิภาค มีคนทำงานกระจายไปทั่วทุกมุมโลกแม้กระทั่งในไทย

ผมเองอยากเห็นเรามีธนาคารข้อมูลกลาง แชร์ข้อมูลของ 4 หน่วยงานทำงานในระบบอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ เก็บประวัติบุคคล, แหล่งข่าว, ผู้ให้ข่าวและอาชญากรข้ามชาติ มีระบบสืบค้นได้ง่ายๆ

ครับ เราต้องพัฒนาทั้งงบประมาณ มีกองวิจัยผลิตข่าวกรองร่วมกันในอนาคต

ผมหวังว่าสิ่งที่พูดมาจะเป็นจริงในช่วงเวลาที่ผมรับตำแหน่งในสำนักของผมและงานที่ร่วมมือกับท่าน" สิทธิเดชเชื่อว่าเขาเปิดใจหมดแล้ว

พลตำรวจเอกเกรียงไกรกล่าวเป็นคนต่อมา

"ผมดีใจที่ได้ผู้ร่วมทีมที่มีความตั้งใจอย่างเชื่อมั่นที่จะพัฒนางานองค์กรให้ก้าวหน้า ในส่วนตัวผมเองเห็นด้วยทุกประการกับคุณสิทธิเดช อยากเรียนว่าหนึ่งในโครงการที่เราทำคือโครงการสร้างทีมข่าวกรองพิเศษที่คุณสิทธิเดชคงทราบบ้างว่าคือโคซิโอ เป็นทีมประสานระหว่าง 4 องค์กรเข้าด้วยกัน มีภารกิจเดียวกันหลังการประชุมนี้เราจะได้พบพวกเขาด้วย"

พลโทเผด็จถามบัญชา "ท่านบัญชามีอะไรจะพูดบ้างไหม"

"ผมขอพูดสั้นๆ ก็แล้วกัน เรื่องการพัฒนาและวิจัยนั้นเราให้คนนอกไปทำมาบ้างแล้วครับ ส่วนศูนย์ข้อมูลแต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้ว ติดขัดอยู่ที่ระบบเชื่อมต่อและประเภทข้อมูลไม่เข้าระเบียบเหมือนกันเท่านั้น...ต้องหาคนมาจัดระบบจึงจะเชื่อมต่อถึงกันได้"

หลังจากการประชุมพลโทเผด็จได้เชิญสมาชิกโคซิโอ 4 คนเข้ามาร่วมดื่มกาแฟโดยมีพิมราเข้ามาเป็นผู้ประสานด้วย สิทธิเดชได้เรียกสหชาติเพราะยังไม่เคยพบตัวแม้ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักข่าวกรองฯ

"คุณเข้าที่สำนักงานฯบ้างหรือเปล่าสหชาติ"

"เข้าครับ...อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วันถ้าไม่มีภารกิจ"

"ผมจะหาห้องให้คุณอยู่ใกล้ ห้องทำงานผมให้พบผมทุกครั้งที่เข้าสำนักงานนะ"

"ครับ"

สหชาติอธิบายให้สิทธิเดชทราบว่าเขามีสถานที่สำหรับพักแรมอยู่ที่อิมพีเรียลและให้เบอร์โทรศัพท์ทั้งที่ส่วนตัวที่บ้านและโรงแรมรวมทั้งเบอร์ของพิมราผู้ประสานงานกับสิทธิเดช เขายังอธิบายว่าสิทธิเดชใช้สิทธิ์ในการริเริ่มให้มีภารกิจใหม่ๆ กับโคซิโอได้เสมอหากเขาเห็นสมควร

เอกรินทร์, ตุลย์และศิริเดชเข้ามาแนะนำตัวพร้อมรายงานสายงานหน้าที่ปฏิบัติเฉพาะทางให้สิทธิเดชได้รับทราบ

สิทธิเดชให้ความสนใจกับงานวิเคราะห์สื่อมวลชนและขอดูผลงานการวิเคราะห์สื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนั้นสิทธิเดชถาม พิมรา เขาสนใจว่าเธอทำงานประสาน 4 คนได้อย่างไร ในเมื่อ 4 คนมีความชำนาญเฉพาะทาง

"ดิฉันให้ตุลย์วิเคราะห์นิสัยแต่ละคนค่ะ เลยไม่ค่อยมีปัญหา"

สิทธิเดชหัวเราะและบอกว่าเธอจะต้องวิเคราะห์เขาเพิ่มอีกคน จะได้เข้าใจว่าทีมเวิร์คที่ดีเป็นเช่นไร

ทุกคนหัวเราะ

.....ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายออกจากห้องประชุมเล็ก พิมราบอกสมาชิกโคซิโอว่า ขอนัดพบพวก   โคซิโอในตอนค่ำเพื่อประเมินสถานภาพของกลุ่มหลังมีการเปลี่ยนหัวหน้าใหม่ที่สำนักข่าวกรองฯ

นัดหมายที่อิมพีเรียลเวลาทุ่มตรง

 

                                               ..........................................

.....โรงแรมอิมพีเรียล....19.00น. 

โคซิโอมากันครบ

"ผมเป็นคนขอพบพวกเราเป็นกรณีพิเศษเอง" ตุลย์เริ่มการสนทนา

"พวกเราก็อยากพบกันอยู่แล้วหลังงานศพคุณภักดี" เอกรินทร์ทบทวน

"ผมมีความรู้สึกแปลกๆ กับคุณสิทธิเดช แกมีความคิดไม่เหมือนคนอื่น" ศิริเดชตั้งข้อสังเกต

พิมราอธิบายว่านี่ เป็นเหตุผลที่ทีมงานโคซิโอต้องคุยกัน

"ผมรู้สึกผิดสังเกตว่าท่านจัดห้องให้ผมอยู่ใกล้ตัว ถ้าเข้าไปสำนักงานฯ" สหชาติบอกเพื่อนๆ แล้วอธิบายต่อ

"ไม่ใช่ว่าท่านไม่ไว้ใจ แต่ดูเหมือนท่านอยากรู้ว่าเราทำอะไรมากกว่า" พิมราพูดบ้าง

"ก็ถามเราตรงๆ ได้ ถ้าจะให้พิมเขียนรายงานก็จะทำให้"

"แหม...มันคงไม่ถึงแบบนั้น" สหชาติท้วงติง

ทั้ง 4 คนประเมินว่า หัวหน้าหน่วยงานน่าจะประชุมกันบ่อยขึ้นและคนที่จะบงการที่ประชุมน่าจะไม่ใช่บัญชาหรือพลตำรวจเอกเกรียงไกร แต่เป็นสิทธิเดชที่กำลังเอาจริงเอาจังในการทำงาน ถ้าเป็นเช่นนั้นทีมงานโคซิโอเตรียมรับภารกิจใหม่ๆ ได้เลย

....แต่ยังไม่ทันจะเริ่มงานเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสหชาติ บอกที่ประชุมว่าที่ทำงานเก่าจากอังกฤษระบุว่ามีชาวรัสเซียอาจจะเป็นเคจีบี เดินทางผ่านอังกฤษเข้ามายังประเทศไทย ไม่แน่ใจว่ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือไม่ หน่วยข่าวกรองอังกฤษแจ้งว่า เธอมาพร้อมเอกสารที่ทางการรัสเซียถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคง 

"ผมได้ชื่อและที่เธอพักในกรุงเทพฯ มาด้วย" สหชาติถามเพื่อนๆจะจัดการอย่างไร

"อังกฤษแนะนำว่าอย่างไร" ตุลย์คิดว่านั่นช่วยการตัดสินใจได้

"ทางอังกฤษเชื่อว่าเธออาจมีอันตราย มีคนติดตามตัวเธอ อาจเป็นพวกเคจีบี ไม่ก็พวกต้องการเอกสารเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น และบอกมาว่าควรช่วยเหลือเธอในประเทศไทย อย่างน้อยให้เธอปลอดภัยไว้ก่อน" สหชาติเล่าว่าอังกฤษเล่ารายละเอียดแค่นี้

"เราควรบอกผู้บริหาร 4 องค์กรให้ทราบโดยด่วน" ศิริเดชให้ความเห็น

สหชาติมีความเห็นว่า ควรดำเนินการให้รู้รายละเอียดมากกว่านี้ ทุกคนเห็นพ้องด้วยให้สหชาติติดต่อไปที่ MI-6 ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้หญิงรัสเซียคนดังกล่าว

........ระหว่างรอข้อมูลจากอังกฤษ สหชาติเข้าที่ทำงานสำนักข่าวกรองฯ พบว่าคุณน้อยสุกุมาลย์เลขานุการอดีตผู้อำนวยการคุณประมุขยังอยู่เป็นเลขานุการคุณสิทธิเดชด้วย

"ท่านให้น้อยจัดห้องคุณชาติอยู่ข้างห้องท่าน ทางด้านซ้ายมือค่ะ"

"ท่านเข้าสำนักงานฯ หรือยังน้อย"เขาถาม "เข้าแล้วตั้งแต่เช้าค่ะ...ตอนนี้ท่านมีแขกอยู่ในห้องค่ะ" น้อยรีบรายงาน

หลังจากครึ่งชั่วโมงที่สหชาติเข้าไปทำงานในห้องที่น้อยกุสุมาลย์จัดให้ใหม่ เธอก็มาเคาะประตูแล้วชะโงกหน้าเข้ามารายงานว่า "ท่านเรียกพบแล้วค่ะ"

สิทธิเดชนั่งอ่านรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนที่ตุลย์ส่งมาให้ตามที่เขาเคยร้องขอ

"เข้ามาเลยสหชาติ" สิทธิเดชเรียกเงยหน้าจากเอกสารรายงานที่ถืออยู่ในมือ

"สถานการณ์สื่อมวลชน ผมเพิ่งอ่านจบ น่าสนใจมาก ครอบคลุมถึงความเห็นของคอลัมนิสต์แต่ละคน มีมุมมองต่างกันไป ทั้งเห็นด้วยและค้านนโยบายรัฐบาล" สิทธิเดชกล่าวชม

"เราประเมินอาทิตย์ละครั้งครับ  เป็นข่าวกรองด้านเปิด เอามาพิจารณากับข่าวกรองด้านปิดเรารวบรวมมาได้ ภาพรวมมีมิติรอบด้านขึ้นมาหน่อย"

"มอสสาดก็ทำแบบนี้ แต่เขาทำทั่วโลก" สิทธิเดชให้ข้อมูล

"ท่านครับ ผมอาจจะมีภารกิจใหม่ทำ ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลความเป็นไปได้อยู่ครับ...ยังไม่ชัดเจน" สหชาติรายงานไม่ลงรายละเอียด "ถ้าแน่นอน ได้เรื่องอย่างไรแล้ว แจ้งในที่ประชุมด้วย" สิทธิเดชตอบ เห็นว่าอะไรที่ไม่ชัดเจนควรรอ จนกว่าได้รายละเอียดสมบูรณ์เสียก่อน จึงการวางเป้าหมายตั้งเป็นภารกิจ "อ้อ...ผมลืมถาม คุณชอบห้องใหม่ที่กุสุมาลย์เขาจัดการให้ไหม"

"ดีครับ...ผมมองออกไปเห็นวิวว่ารถว่างหรือติด ได้กะเวลาออกจากที่ทำงานสะดวก...ผมยังไม่ได้จัดห้อง ผมไม่ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ผมมีโน้ตบุ้คใช้สะดวกกว่าครับ" สหชาติเกรงว่าจะสิ้นเปลืองใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็น เขาไม่เข้าที่ทำงานบ่อยนัก

"คนที่เพิ่งมาพบผมคือโจนัส แอฟรอน ทำงานอยู่กับสถานทูตอิสราเอลมาพบผม เรื่องที่จะให้ความร่วมมือกับเรา ด้านการพัฒนาระบบข้อมูล ผมเลยรับคำ รอให้เราประชุมกันก่อน" สิทธิเดชรู้ว่าสหชาติสงสัยคนต่างชาติที่เพิ่งออกจากห้องทำงานคือใคร" เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีเลยครับ ที่เราจะร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศ โดยเฉพาะกับมอสสาด" .....

"เชิญตามสบายเลยนะสหชาติ...ผมหมดธุระกับคุณแล้ว"

           เอกสารตีตรา "ลับมาก" จากสถานทูตอังกฤษส่งโดยเจ้าหน้าที่ถึงมือสหชาติที่โรงแรมอิมพีเรียลเช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2531

เอกสารมีชื่อ รูปถ่ายรวมทั้งประวัติย่อของดิมิตรา ซัคคารอฟ เธอเกิดที่เมืองเชเลคคอฟใกล้กับ

อีร์คุตสก์ เธออายุ 26 ปี สถานภาพโสด พี่ชายอยู่เมืองเดียวกัน แต่มาทำบาร์และร้านอาหารในประเทศไทย บิดาเธอนายนิโคไล ซัคคาลอฟ มารดาคริสตินา ซัคคาลอฟ บิดาเป็นเคจีบีรับผิดชอบค่ายกักกันนักโทษลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกรัฐบาลส่งออกมาจากที่ต่างๆ

ดิมิตราได้รับการศึกษาขั้นต้นและระดับมัธยมจากโรงเรียนมาร์คอฟไฮสกูลในเมืองใกล้ๆ กับ      อีร์คุตสก์ จบแล้วเรียนต่อในมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูแห่งอีร์คุตสก์ ระหว่างเรียนอยู่ เคจีบีที่ใกล้ชิดกับบิดาได้มาที่มหาวิทยาลัยและคัดนักศึกษา 5 คนไปสอบเพื่อเข้าสถาบันฝึกเป็นสายลับเคจีบี หน่วยสืบราชการลับ MI-6 ไม่แน่ใจว่าเธอเป็น 1 ใน 5 นักศึกษานั้นด้วยหรือไม่

หลังจากบิดามารดาเสียชีวิต มีคนรายงานมายัง MI-6 เห็นดิมิตราแลกเปลี่ยนข้อมูลสิ่งของกับผู้หญิงแปลกหน้าในวิหารของโบสถ์สปาสคายาใกล้จตุรัสคีรอฟ สำนักข่าวกรอง MI-6 เชื่อว่าผู้หญิงแปลกหน้าคนนั้นเป็นพวกนอกคอก ที่ได้รับข้อมูลทางวาจาจากพวกนักเขียนกบฏอยู่ค่ายกักกันแห่งหนึ่งในไซบีเรีย

ดิมิตรามีแผนเดินทางมายังประเทศไทย เธอนำเอกสารลับติดตัวมาเพื่อพบกับเพื่อนสหายและพี่ชายเธอซึ่งทำธุรกิจอยู่ที่เมืองตากอากาศแห่งหนึ่งในประเทศไทย

หน่วยสืบราชการลับอังกฤษเชื่อว่ายังมีเอกสารลับเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่งในอีร์คุตสก์หรือที่เซเลคคอฟ และน่ามีความเกี่ยวโยงระหว่างผู้หญิงลึกลับในโบสถ์สปาสคายากับเพื่อนและพี่ชายเธอที่ประเทศไทย

ทั้งหมดคือข้อมูลในเอกสารที่ได้รับจากหน่วยข่าวกรอง MI-6

                                       -20-    

คณะสมาชิกโคซิโอทั้งหมด รับทราบเรื่องราวในเอกสาร ลงความเห็นว่าเครือข่ายงานจารกรรมเอกสารลับระหว่างประเทศ อาจจะกระทบความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียหรือประเทศอื่นๆ ได้

"มันยุ่งยากว่าถ้าหากอังกฤษต้องการเอกสารนั้น และเคจีบีก็ต้องการเช่นกัน อาจมีฝ่ายอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศทั้งสองนั้น ก็อยากได้เอกสารลับไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเราไม่รู้...ประเทศไทยเวลานี้กลายเป็นสนามรบของบรรดาสายลับไปแล้ว" สหชาติพยายามอธิบายให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพ

"ถ้าเช่นนั้น เราก็เป็นเพียงหมากตัวเดียวเป็นตัวเดินให้พวกนั้นรุกฆาต...พูดง่ายๆ เราเป็นแค่ตัวเบี้ย" พิมราพูดอย่างไม่พอใจ

"เราเป็นตัวเบี้ย ที่อาจกินตัวใหญ่ก็ได้" เอกรินทร์พูดแล้วตบโต๊ะ

"เอาละ...เริ่มด้วยการหาตัวดิมิตราให้พบก่อน พิมราคุณเป็นผู้หญิงเดี๋ยวมาคิดกัน ถ้าจะไปพบเธอควรทำอย่างไร" สหชาติขอความเห็น

จากข้อมูลที่ได้มา ดิมิตรามาถึงไทยเมื่อวานนี้ เธอน่าจะยังอยู่ในกรุงเทพฯ ข้อมูลว่าอยู่โรงแรม    อดามาสละแวกถนนข้าวสาร สหชาติและพิมราเดินหาในถนนข้าวสารไม่พบว่ามีโรงแรมชื่อนี้บนถนนนี้ ต้องไปถามพนักงานโรงแรมแถวนั้น

"ไม่มีครับ โรงแรมอดามาส บนถนนข้าวสาร มีแต่เกสต์เฮ้าสท์" พนักงานโรงแรมเล็กๆ ตอบ กระทั่งถามแท็กซี่หน้าโรงแรมจึงได้ความ

"อดามาส...ผมเพิ่งส่งแขกไปเมื่อวานนี้เอง ผู้หญิงฝรั่งครับ ให้ผมไปส่งพี่ๆดีกว่า ...แค่10 นาทีก็ถึงอย่าเดินเลยมันร้อน" แท็กซี่ได้ลูกค้าแล้ว

เพียง 5 นาทีสหชาติกับพิมราก็ถึงโรงแรมอดามาส ถนนพระสุเมรุ บางลำพู

พนักงานโรงแรมขึ้นไปยังห้องพัก บอกดิมิตราว่ามีคนไทย 2 คนมารอพบเธออยู่ข้างล่าง สักพักพนักงานยื่นโทรศัพท์ภายในให้สหชาติ

"เธอขอพูดกับคุณ"

"ผมชื่อสหชาติ เป็นคนไทยรู้จักคุณเซอร์ไก ผมมากับเพื่อนผู้หญิง คุณลงมาพบเราหน่อยได้ไหม”

"แน่ใจนะว่าคุณไม่ใช่ตำรวจ"

"ไม่ใช่ครับ"

ไม่นาน ดิมิตราก็ลงมาข้างล่าง เธอไม่ใช่คนสวย แต่ดูน่ารักผิวขาวเหมือนฝรั่งตะวันออก ผมสีน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับสีนัยน์ตา ตัวเล็กเท่ากับคนไทย

แววตามองเขาตรงๆ เธอยิ้ม พูดจาอย่างเปิดเผย ขี้เล่น

"คุณโกหกฉัน...ฉันเพิ่งโทรศัพท์ถึงเซอร์ไก ก่อนคุณมาเพียง 5 นาที บอกจะมาหาฉันจากพัทยา"

"...งั้นผมก็ถูกจับได้ละซี" สหชาติหัวเราะ

"คนไทยขี้ปดกันทุกคนเหรอ เหมือนพวกเติร์กในเซเลคอฟ...แต่คุณมีธุระอะไร"

"คำถามนี้ผมน่าจะถามคุณ คงไม่ได้มาเที่ยวหรือมาเยี่ยมพี่คุณใช่ไหม"

"ฉันมาเที่ยวจริงๆ" ดิมิตรายืนยัน

พิมราหัวเราะ "หนีหนาวจากไซบีเรียมาเมืองไทยนี่นะคะ"

"ความจริงฉันมีธุระอื่นด้วย" ดิมิตรายอมรับ

"เอาอย่างนี้ไหม นี่ก็ใกล้อาหารเที่ยงให้เราเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารไทยสักมื้อได้ไหม" สหชาติเลียบเคียง

"คุณยังไม่ตอบคำถามฉันเลย คุณมีธุระอะไรกับฉัน" ดิมิตรายืนกราน

"อิ่มแล้ว ผมจะเล่าเรื่องธุระให้ฟัง ไม่ต้องกลัวน่า"

สหชาติเลือกร้านอาหารมุสลิมใกล้ไปรษณีย์สาขาบางลำพู ถามแล้วว่าดิมิตรากินเนื้อวัวได้

เขาสั่งสตูว์ลิ้นวัว โรตีมะตะบะ เนื้อสะเต๊ะให้ดิมิตราลองรับประทาน ส่วนเขากับพิมรารับประทานก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อเปื่อย ลูกชิ้นปิ้งและเนื้อสะเต๊ะ

ระหว่างนั้นเขาเปิดเผยความจริง เขาเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานข่าวกรองได้รับรายงานว่าดิมิตราเดินทางมาไทยไม่ปลอดภัย อาจถูกปองร้ายหรือลักพาตัวจากผู้ไม่หวังดี พิมราเสริมว่า ย่านที่เธออยู่อาจมีคนร้ายชิงทรัพย์สินหรือทำอันตรายได้ ถ้าไม่รู้จักป้องกันตัว

ดิมิตราตบกระเป๋าถือข้างตัว "ของสำคัญนำติดตัวอยู่เสมอ หนุนใต้หมอนเวลานอนก็ยังเคย" เธอพูดอารมณ์ดี

"ดีแล้วครับที่ระวังตัว" สหชาติสบายใจที่ได้พูดออกมา

หลังจากอาหารกลางวัน ดิมิตราขอให้พิมรา พาเธอหาซื้อเสื้อผ้าและเครื่องใช้สำหรับผู้หญิงในย่านบางลำพู ระหว่างนั้นสหชาติรายงานไปยังเพื่อนๆ ที่โรงแรมอิมพีเรียล พบดิมิตราแล้ว ไม่น่ามีปัญหา จะเข้าไปสรุปสถานการณ์ในตอนเย็น

เมื่อกลับอดามาสประมาณบ่ายโมงครึ่ง พนักงานโรงแรมบอกดิมิตรา มีพี่ชายเธอมาหาและไม่รอข้างล่าง ขึ้นไปบนห้องทั้งๆที่โรงแรมไม่ได้ให้กุญแจ สักพักกลับมาแล้วออกจากโรงแรมพร้อมกับชายอีกคน

ดิมิตราถามว่าพี่ชายเธอสักที่แขนเป็นรูปนกอินทรีย์ใช่ไหม

พนักงานบอกว่าเป็นชายผิวขาวเหมือนคนตะวันออกกลาง ตัวใหญ่แต่ไม่มีรอยสักใดๆ

"ไม่ใช่พี่ฉันแน่" ดิมิตราตกใจ "คุณมากับฉันหน่อย"

สหชาติและพิมราเดินตามดิมิตราขึ้นบันไดไปชั้นสองห้องพักเธอ

สภาพห้องถูกรื้อค้นกระจุยกระจาย เสื้อผ้า และผ้าคลุมเตียงถลกกองลงกับพื้น ห้องน้ำ ก็ถูกค้น ห้องนอนตู้เสื้อผ้าถูกเปิด ลิ้นชักดึงออกมา นำผ้าต่างๆออกมากองไว้ตามพื้นพรม

"ฉันรู้ว่ามันต้องการอะไร โชคดีที่ฉันเอาติดตัวไป" เธอกล่าวพร้อมกอดกระเป๋าไว้แน่น

"มันตามเธอถึงเมืองไทยเชียวรึ" พิมราถาม

"ใช่ คงเป็นเคจีบีจากวลาดิวอสต็อค มันอาจตามฉันอยู่" ดิมิตราตอบ

"มันไกลจากเมืองที่เธออยู่นะ" สหชาติสงสัย

"เพื่อนฉันมาพบฉันที่อีร์คุตสก์ตัวเขาอยู่วลาดิวอสต็อคยังโดนเคจีบีตามถึงอีร์คุตสก์"

"เพื่อนคุณให้อะไรสำคัญกับคุณสินะ" พิมราซัก

"ฉันจะบอกกับคุณทีหลัง ตอนนี้มันเป็นเรื่องร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐบาลรัสเซีย" ดิมิตราตอบ       “จะเอายังไงโรงแรมไม่ปลอดภัยแล้ว" สหชาติขอความเห็น

"ฉันจะเก็บของออกจากที่นี่ คุณมีทางเลือกอื่นไหมล่ะ"

"ดิมิตรา...มากับเราคุณปลอดภัย...อย่าคุยกับใครรวมทั้งพี่คุณ พวกเคจีบีทำธุรกิจเป็นมาเฟียที่พัทยาด้วย" พิมราบอกให้ดิมิตรารับรู้แต่เนิ่นๆ

ดิมิตราจ่ายเงินค่าโรงแรม เช็คเอ้าท์ ต่อว่าเรื่องคนแปลกหน้า เข้าห้องเธอโดยพละการ โรงแรมขอโทษ พยายามคืนเงินค่าโรงแรมให้ เธอไม่รับไว้ ฝากให้ข้อคิด อย่าไว้ใจคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่แขกผู้มาพักอีก

เรียกรถแท็กซี่มาโรงแรมอิมพีเรียล ถึงเมื่อเวลาค่ำแล้ว

สหชาติได้ห้องพักให้ดิมิตราโดยได้ส่วนลดพิเศษ แนะนำเธอให้รู้จักทีมงานที่เหลือของโคซีโอ

"ฉันอยากเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ทำไมฉันต้องพบพี่ที่พัทยา" ดิมิตราต้องการเล่าเรื่องทั้งหมด

"ฉันต้องให้เขามาพบที่อิมพีเรียล ไม่ใช่ที่อดามาส ไม่แน่ใจมีคนตามหรือเปล่า"

เธอเท้าความถึงสาเหตุที่ต้องพบพี่ชาย ลุดมิร่าผู้หญิงพบในโบสถ์สปาสคายา จตุรัสคีรอฟเป็นคนมาบอกข่าวเรื่องเพื่อนพี่ชายผู้เป็นกวี ถูกรัฐบาลเนรเทศมาอยู่เมืองเล็กๆ ในไซบีเรีย

ปาสชานักเขียนบทกวีเป็นเพื่อนกับเซอร์ไก ปาสชามีความคิดก้าวหน้า เป็นหนึ่งในปัญญาชนถูกรัฐบาลรัสเซียเนรเทศให้อยู่ในค่ายกักกันแห่งหนึ่ง ในไซบีเรียตะวันตก ใกล้เมืองเล็กๆ ห่างจากอีร์คุตสก์ ไม่ถึงร้อยกิโลเมตร เขาเขียนบันทึกและบทกวีเล่าถึงความเลวร้ายในค่ายใช้แรงงานและความอดอยากทารุณในฤดูหนาว ลุดมิร่ารับรู้เรื่องราวจากลุงของเธอซึ่งส่งอาหารให้ค่ายกักกันแห่งหนึ่งและรู้จักปาสชากวีที่มีชื่อเสียง

ดิมิตราบอกด้วยว่า เธอมีเอกสารรวมทั้งบันทึกและบทกวีของปาสชา นิโคโลวิช ที่พ่อเก็บไว้มันบอกถึงความโหดร้ายและสถานที่ตั้งค่ายกักกันหลายแห่งหลายเมือง ที่รัสเซียเก็บเป็นความลับ เคจีบีบางคนที่รู้ พ่อเธอเก็บข้อมูลไว้ในบ้าน พ่อรับผิดชอบพวกนักโทษมีชื่อเสียงหลายคนเช่นวาเลรี่ ชาลิดซี, ยูริ ออร์ลอฟ, ลุดมิล่า  อเล็กซีเยว์และคนอื่นๆอีกมาก

เอกสารเหล่านี้มีค่ามาก โดยเฉพาะคำสารภาพพ่อเซ็นชื่อกำกับไว้ บอกความทารุณต่างๆ ในฐานะผู้ดูแลนักโทษ พ่อประนามผู้นำหลายคนมีเบรสเนฟ เยลซิน แม้กระทั่งสตาลินว่าสร้างระบบกดขี่ไร้ยางอายอย่างไรบ้าง 

แสดงเพิ่มเติม

รีวิว (0)

เรื่องนี้ยังไม่มีรีวิว