เสียงระฆังบนยอดหอคอยกลางเมืองที่ดังขึ้นทุกชั่วโมงเป็นเวลาร่วมหกศตวรรษพาให้เมืองเล็กๆบนเขาแห่งนั้นมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันตา กลุ่มนักท่องเที่ยวหลากสัญชาติซึ่งโดยมากเป็นชาวยุโรปชาติอื่น ต่างละสายตาจากแผงสินค้าจำพวกของที่ระลึกและเจลาโตอิตาเลียนแท้ที่เรียงรายในถาดหน้าร้าน เพื่อแหงนคอมองไปยังหอคอยสูงซึ่งตั้งเด่นใจกลางเมืองที่แน่นขนัดด้วยตึกรามเก่าแก่ หลายคนอดไม่ได้ที่จะยกกล้องขึ้นมาอัดวิดีโอบันทึกบรรยากาศอันคึกคักของเมืองงามแห่งนี้ไว้เป็นที่ระลึก
“เชา” เสียงทักทายอย่างเป็นกันเองแว่วมาจากหน้าต่างบ้านหนึ่ง พร้อมกับร่างอ้วนกลมของสตรีสูงวัยที่โผล่ออกมาแขวนเสื้อบนราวตากผ้า ตามมาด้วยเสียงขานรับกันเป็นช่วงๆของเพื่อนบ้านคนแล้วคนเล่าตลอดสองฟากฝั่งของตึกอิฐยุคกลาง...ใช่เพียงสถาปัตยกรรมในเมืองที่ยังคงความโบราณเท่านั้น หากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองนี้ก็ยังดูเรียบง่ายไม่ต่างจากในอดีตสักเท่าใดนัก
“บวนจอร์โน” คำกล่าวอรุณสวัสดิ์เพิ่งจะเลือนหายไปจากลำคอนักท่องเที่ยวผู้กำลังดื่มด่ำกับความน่ารักของชาวเมือง ฉับพลันความสงบราบเรียบของถนนแคบๆสายนั้นก็มีอันสิ้นสุดลง เมื่อรถยนต์สมรรถนะเยี่ยมคันหนึ่งเร่งความเร็วมาตามพื้นถนนที่ปูด้วยหินแบบสมัยเก่า ราวกับไม่ยี่หระต่อชีวิตคนบนถนน ข้าวของที่ตั้งกีดขวาง รวมทั้งเสียงทักทายที่แปรผันเป็นคำด่าพ่อล่อแม่ตนแม้แต่น้อย
รถสปอร์ตคันดังกล่าวแล่นดิ่งลงมาจากถนนที่มีความลาดชันสูง ไม่กี่ชั่วอึดใจต่อมา มันก็ทิ้งห่างจากตัวเมืองบนเขาลูกนั้น มาอยู่บนทางหลวงที่ตัดผ่านที่ราบลูกฟูกแบบยุโรปใต้ ตะบึงผ่านแนวสนสูงที่ขึ้นเป็นแนวคดเคี้ยวตามเส้นทาง ข้ามเนินลูกคลื่นอันเป็นความภูมิใจของแคว้นตอสกานาแห่งนี้ด้วยความรวดเร็วประดุจอาชาผาดผยอง ก่อนที่ผู้ขับขี่จะเหยียบเบรกลงกลางคัน ทันทีที่ภาพคอกปศุสัตว์และฝูงม้าตัวจริงเสียงจริงปรากฏแก่ดวงตาสีเทอร์ควอยซ์ที่เพ่งเขม็งไปข้างหน้า
ประตูรถฝั่งคนขับถูกผลักออกไวว่อง ชายหนุ่มรูปร่างล่ำสัน ไว้เคราสีน้ำตาลเป็นแถบขนาบขากรรไกร ท่าทางออกเสเพล ในเครื่องแต่งกายสำหรับออกกำลังกายกลางแจ้ง โจนลงมาจากรถ และปรี่ไปหาผู้สูงวัยที่กำลังยืนถือสายบังเหียนม้าหนุ่มตัวหนึ่ง ด้วยท่าทางที่คุ้นเคยสมกับเคยปฏิบัติมานานเดือน
“เชา โปรเฟสซอเร” คนมาใหม่ออกปากทักตามมารยาท แสร้งส่งยิ้มแหยอย่างเดาอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งออก “ว่าไง อาจารย์”
“เมื่อคืนมัวเที่ยวไนต์คลับเพลินอีกสิท่า” ผู้สูงวัยกว่าส่งยิ้มในหน้า ก่อนส่ายศีรษะด้วยความระอิดระอาในพฤติกรรมของคนทัก “อย่าให้ฉันต้องปากเปียกปากแฉะถึงโทษของการไม่ตรงต่อเวลาเลย”
“ก็มีบ้างนิดๆหน่อยๆนั่นแหละ” ชายหนุ่มอ้อมแอ้ม “คุณพูดอย่างนั้นก็เกินไป ยังไงผมก็มาทันเวลานัดหมายของเราไม่ใช่เหรอ”
ชายสวมแว่นดำเงียบ ค่อยๆพลิกข้อมือดูนาฬิกาที่สวมอยู่
“เธอมาช้าไปสิบห้าวินาทีเห็นจะได้” เขาแจงด้วยน้ำเสียงขึงขัง “ถึงจะมาช้าไปแค่วินาทีเดียวก็ถือว่าไม่ทัน เพราะสมรภูมิที่เธอกำลังจะลงแข่งเร็ววันนี้ สายไปเพียงเสี้ยวลมหายใจ ก็อาจทำให้ความพยายามทั้งหมดต้องสูญเปล่า”
“ผมรู้แล้วน่า” คนหนุ่มขึ้นเสียงเหมือนรำคาญ “ถึงผมจะไม่ใช่นักแข่งหน้าเก่าของรายการนี้ แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่เคยผ่านปาลิโอเสียเมื่อไหร่”
“และเธอก็คงรู้อยู่แล้วเหมือนกันว่าการแข่งปาลิโอของที่นี่ ไม่ใช่สนามเด็กเล่นที่มีผู้เข้าแข่งขันแค่สี่คนอย่าง ปาลิโอ ดิ เลญญาโน ที่เธอเคยผ่านมา”
บุรุษรุ่นราวคราวพ่อย้อนคำขณะที่ลูกศิษย์ปีนขึ้นนั่งบนหลังม้าที่ตนนำมารอด้วยสีหน้าแสดงอาการไม่สบอารมณ์อย่างโจ่งแจ้ง
“...เพราะนี่คือปาลิโอ ดิ เซียน่า ซึ่งมันไม่ได้เป็นแค่ปาลิโอที่เก่าแก่ที่สุด แต่ยังเป็นการแข่งม้าที่ทรงคุณค่าที่สุดงานหนึ่งของโลกอีกด้วย”
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น ณ บ้านเดี่ยวแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“เมืองอะไรนะ เซียน่า ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย”
สาวใหญ่ผู้เป็นเจ้าของบ้านอุทาน หลังจากที่หลานสาววัยรุ่นเอ่ยชื่อเมืองในอิตาลีซึ่งตนไม่คุ้นหู มิหนำซ้ำยังยืนยันหนักแน่นด้วยประโยคสั้นๆ แต่ทำคนฟังใจร่วงไปกลิ้งเกลือกบนตาตุ่มว่า “...จะไปเรียนที่เมืองนี้”
“เป็นเมืองไม่ใหญ่ไม่ดังเท่าไหร่หรอกค่ะ นี่ก็เพิ่งจะรู้จักชื่อเมืองนี้ตอนที่ครูแนะนำให้ไปเรียนเอง” คือคำตอบที่เด็กสาวผิวสองสี ตาโต ตัดผมดำขลับเรียบตรงเคลียบ่า กล่าวพลางค้นหาภาพถ่ายของเมืองเซียน่าจากกูเกิลให้ผู้เป็นน้าดู
“ดีจ้ะ มีคนเคยบอกน้าว่า จะเก่งภาษาได้ก็ต้องลองพูดคุยกับเจ้าของภาษาเขาดู ไหนๆสาก็ร่ำเรียนภาษาเขามาแล้ว ก็ต้องลองไปใช้จริงสักตั้ง จะได้รู้ว่าทักษะเราอยู่ระดับประมาณไหน มีอะไรยังบกพร่องอยู่อีกบ้าง”
น้าให้โอวาทเสียยืดยาว ตามัวแต่มองนิสิตเอกภาษาอิตาเลียนผู้เป็นหลาน ก่อนที่เธอจะอึ้งไปเมื่อได้เห็นภาพถ่ายมุมสูงของเมืองนี้เป็นครั้งแรก
“โอ้โฮ เมืองเขาสวยเหมือนกันนะนี่ ดูอลังการงานสร้างไม่แพ้ฟลอเรนซ์ที่น้าเคยไปเที่ยวมาเลย” น้าสาวจ้องหน้าจอโน้ตบุ๊คที่ฉายภาพมุมต่างๆของเมืองเซียน่าชนิดตาไม่กะพริบ “สวยพอๆกันเลย แต่ดูเหมือนที่นี่จะเก่ากว่าฟลอเรนซ์”
“ฟลอเรนซ์กับเซียน่าอยู่ใกล้ๆกันค่ะ อยู่ในแคว้นเดียวกัน แต่ฟลอเรนซ์ดังกว่าเพราะเป็นเมืองเอก” อลิสาขยายความ “ครูของสาเคยไปเรียนที่เมืองนี้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เพราะเมืองเขาสวยนี่แหละ ครูเลยแนะนำให้สาไปเรียนบ้าง”
“อย่างนี้นี่เอง” น้องสาวแม่เปรยขึ้นมาลอยๆ “แต่จะว่าไปก็แปลกนะ”
“แปลกที่แม่ยอมให้สาไปเรียนหรือคะ”
นิสิตสาวเดาสาเหตุ ในหัวนึกสลับกันไปมาระหว่างนิสัยเค็มดุจเกลือแกงของมารดาตน กับการพูดชักแม่น้ำทั้งห้าที่ตนใช้เพื่อโน้มน้าวจิตใจแม่ให้ยอมส่งเสียตนได้ไปเรียนซัมเมอร์ที่ต่างประเทศหนแรกในชีวิต
“ถ้าเป็นเพราะเรื่องนี้ สาก็จะบอกว่าแม่เขาอยากให้สาไปหัดใช้ชีวิตเมืองนอกจะตายไปค่ะน้า แม่ว่าถ้ายังอยู่เมืองไทย สาก็คงใช้ชีวิตลูกแหง่อย่างนี้ไปวันๆ เพราะแบบนี้แม่เลยยอมให้ไปได้ ไม่งั้นคงไม่ยอมควักเงินเป็นหมื่นๆหรอกค่ะ”
“นั่นก็เรื่องหนึ่งแหละ แต่น้าแปลกใจอีกเรื่องมากกว่า” สาวใหญ่เฉลยความในใจ “ทำไมจู่ๆสาถึงกล้าไปเรียนที่นู่น ทั้งที่ไม่เคยออกนอกเมืองไทยสักครั้ง ก่อนหน้านี้ก็ยังเคยบอกน้าว่าไม่อยากไป แล้วนี่คิดยังไงถึงกลับลำตัดสินใจไปเรียนได้ละจ๊ะ เพื่อนที่จะไปด้วยกันสักคนก็ไม่มี ไม่กลัวแล้วเหรอ”
คำถามของน้าทำเอาเด็กสาวถึงกับหน้าเจื่อน ใช่ว่าเธอจะไม่มีเหตุผลในการเลือกทางเดินชีวิตครั้งนี้ หากเป็นเพราะเหตุผลข้อสำคัญในประดาเหตุผลหลายๆข้อนั้น อย่าว่าแต่จะให้บอกกับคนอื่น กระทั่งตัวเธอเองก็ยังไม่อยากนึกถึง
ปัญหาที่พูดไม่ได้นั้น...
จะเป็นปัญหาอันใดได้เล่า ถ้าไม่ใช่ปัญหาหัวใจ
“สาอยากจะทบทวนตัวเองให้ดีกว่านี้น่ะค่ะ เลยอยากไปอยู่แปลกที่บ้าง เพราะถ้าอยู่ที่เดิมๆก็มีแต่ความจำเจ...” อลิสายิ้มตอบ ไม่ต้องบอกคงพอจะจินตนาการกันได้ว่าเธอต้องอาศัยแรงอุตสาหะสักเพียงใดในการปั้นใบหน้านี้ขึ้นมา
“งั้นหรือจ๊ะ ก็ดีเหมือนกัน พอไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หลานอาจจะได้รู้จักตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ได้นะ น้าเอาใจช่วยจ้ะ”
ญาติผู้ใหญ่คนเดียวในเมืองกรุงแปลความหมายไปอีกทางหนึ่ง ขณะที่นิสิตเอกอิตาเลียนแลเลยไปยังภาพถ่ายในหน้าจอคอมพิวเตอร์ จิตใจของเธอล่องลอยไปในเมืองสวยแห่งนี้ คิดฝันถึงชีวิตใหม่สองเดือนที่นั่น ด้วยความหวังล้นปรี่ว่ามันจะช่วยกู้คืนดวงใจที่บอบช้ำของเธอให้กลับมาสมบูรณ์ได้ดังเดิม