วรรณกรรมวายๆ ที่ควรอ่านสักครั้งในชีวิต

วรรณกรรมวายๆ ที่ควรอ่านสักครั้งในชีวิต

 

 

            สวัสดีค่ะชาวธัญวลัยที่น่ารัก แม้เว็บไซต์ธัญวลัยของเราจะมีนิยายหลากหลายหมวดหมู่ให้นักอ่านและนักเขียนได้เลือกชมกัน แต่ถ้าพูดถึงหมวดที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คงเป็นหมวด นิยายวาย ยอมรับมาซะดีๆ ว่าคุณๆ ก็เป็นนักอ่านนิยายวายตัวยง แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับรักร่วมเพศนั้นมีมานานแล้ว และมีวรรณกรรมมากมายเคยนำเสนอมุมมองการรักร่วมเพศ โดยจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำให้ตระหนักถึงการมีตัวตนและให้พวกเราเปิดทัศนคติยอมรับของกลุ่มคนเหล่านี้ในสังคมมากขึ้น และวันนี้ธัญวลัยจึงคัดสรรวรรณกรรมที่แฝงประเด็นการรักร่วมเพศ ซึ่งสะท้อนแง่คิด มุมมองในสังคม ชนิดที่เรียกได้ว่าควรหามาอ่านให้ได้สักครั้งในชีวิตค่ะ 

 

 

The Kite Runner เด็กเก็บว่าว

#

เครดิตภาพ : http://www.korbooks.com

 

คนละเรื่องกับ The MazeRunner นะคะ อย่าสับสนๆ The Kite Runner หรือชื่อไทยว่า เด็กเก็บว่าว เป็นวรรณกรรมของนักเขียนชาวอัฟกานิสถาน นาม Khaled Hosseini ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 และสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี 2007

วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของเด็กชายสองคนที่มีฐานะต่างกันทางสังคมแต่กลับเป็นเพื่อนรักกัน แต่แล้วเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นใน งานแข่งว่าว ก็ทำให้ชีวิตและความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

เด็กเก็บว่าวอาจเน้นมิตรภาพของตัวละครเอกทั้งสองมากกว่านำเสนอไปในเชิงความรักร่วมเพศ แต่วรรณกรรมเรื่องนี้กลับสร้างความสะเทือนใจผ่านการกระทำของตัวละครหนึ่งในเรื่องคือชายอันธพาลนาม อะเซฟ ที่เป็นผู้รักใคร่เด็ก เนื่องจากมีฉากข่มขืนเด็กชาย ทั้งยังนิยมนาซีอีกด้วย 

แม้เด็กเก็บว่าวจะเป็นหนังสือขายดีจนติดอันดับใน สหรัฐอเมริกา ถูกจัดเป็นหนังสือดีเด่นในปี 2006 และ 2007 ทั้งยังได้รับรางวัล Exclusive Books Boeke Prize ของแอฟริกา แต่กลับถูกแบนในบางประเทศเพราะถูกกล่าวหาว่าทำให้ผู้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่มทาลิบาน (กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคร่งครัดศาสนาอิสลาม)

 

 

Daddy’s Roommate

#

เครดิตภาพ : https://en.wikipedia.org

 

อาจมีนักเขียนไม่มากที่กล้านำเสนอเรื่องราวรักร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง และ ไมเคิล วิลล์ฮอยต์ ก็คือหนึ่งในนั้น และเพราะเหตุที่เน้นนำเสนอประเด็นเรื่องรักร่วมเพศจึงทำให้ Daddy’s Roommate เป็นหนังสือที่ถูกแบนบ่อยที่สุด โดยเนื้อหาเป็นการเล่าถึงครอบครัวหนึ่ง ซึ่งผู้เป็นพ่อแยกทางกับภรรยา จึงอาศัยอยู่กับลูกชายแค่สองคน แต่จากนั้นไม่นานพ่อก็ได้พาชายอีกคน ซึ่งเป็นแฟนของพ่อแต่ใช้คำว่า รูมเมท มาอยู่ด้วย

 

 

And Tango makes three

 #

เครดิตภาพ : http://books.simonandschuster.com

 

สำหรับเรื่องนี้ เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กค่ะ แม้หน้าตาหน้าปกจะดูน่ารัก อบอุ่นละมุนละไม แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือ เจ้าเพนกวินตัวใหญ่สองตัวในภาพดันเป็นตัวผู้ทั้งคู่ ซึ่งผู้เขียนได้แรงบัลดาลใจมาจากนกเพนกวินสองตัวที่ช่วยกันฟักไข่ในสวนสัตว์เซ็นทรัลพาร์ค เมื่อปี 1999

And Tango makes three เป็นเรื่องราวของ นกเพนกวินตัวผู้สองตัวที่ได้รับไข่มาจากผู้ดูแลสวนสัตว์เพราะคิดว่าพวกมันเป็นคู่เพนกวินตัวผู้ตัวเมีย พวกมันจึงช่วยกันเลี้ยงดูกฟูมฟักไข่จนกลายเป็นลูกเพนกวินตัวน้อยที่ชื่อ แทงโก้

 

 

บัลลังก์ใยบัว

#

เครดิตภาพ :http://www.praphansarn.com 

 

กล่าวถึงงานต่างประเทศมาเยอะแล้ว คราวนี้เรามาดูวรรณกรรมไทยกันบ้างนะคะ โดยธัญวลัยจะขอเริ่มที่เรื่องบัลลังก์ใยบัว ผลงานของนักเขียนชื่อดัง คุณกฤษณา อโศกสิน เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่นำเสนอประเด็นของชายรักชายที่ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย โดยผ่านตัวละคร ปุตตรา 

บัลลังก์ใยบัว เป็นวรรณกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงแง่คิดของคนในสังคม ซึ่งล้วนแต่ต้องการความสมบูรณ์แบบ เฉกเช่น ปุตตรา และรสิกา ซึ่งต่างทระนงว่าตนอยู่เหนือผู้อื่น แต่ทั้งคู่มีสิ่งที่เหมือนกันคือความบกพร่องทางใจ ปุตตรา ชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมทั้งรูปทรัพย์ แต่กลับมีความรักที่ผิดเพี้ยนกับผู้ชายด้วยกันจึงต้องเก็บซ่อนความรักนี้ไว้ ส่วน รสิกา เป็นศิลปินผู้เชื่อมั่นในตนเอง และไม่เคยรับฟังเหตุผลของคนอื่นจึงส่งผลร้ายตามมา

 

 

ใบไม้ที่ปลิดปลิว

#

 

เครดิตภาพ : http://www.bookseven.com

 

ใบไม้ที่ปลิดปลิว ของคุณทมยันตี เรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของชายรักชายอย่างเรื่องอื่นๆ แต่กล่าวถึงประเด็นของ สาวประเภทสองค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ชื่อ นิรา ซึ่งมีอดีตที่ไม่ดีเกี่ยวกับผู้เป็นพ่อ นั่นก่อให้จิตใจของนิราเกิดความรักที่ผิดเพี้ยนต่อผู้เป็นอาของตน และเมื่อความรักถูกปฏิเสธส่งผลให้นิราเปลี่ยนแปลงจากชายเป็นหญิง

เรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่เป็นปากเสียงให้แก่สาวประเภทสองเลยทีเดียว เนื่องจากคนทั่วไปในสังคมสมัยนั้นหรือแม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ให้การยอมรับพวกเธอนัก ใบไม้ที่ปลิดปลิวจึงส่งนิรามาเป็นตัวแทนเพื่อบอกผู้คนว่าถึงจะเป็นสาวประเภทสองแต่เธอก็เป็นคนดี และเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการยอมรับจากสังคม

 

 

 

ยังมีวรรณกรรม นิทาน หรือสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นอีกมากที่สะท้อนประเด็นเรื่องการรักร่วมเพศ เพื่อเป็นช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมแก่กลุ่มคนเหล่านี้ให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะกลุ่มคนรักร่วมเพศจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากกคนอีกมาก อย่าลืมนะคะว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเป็นอะไร แต่อยู่ที่เราเลือกจะทำประโยชน์ให้แก่สิ่งใดได้บ้าง... มิใช่หรือ?

 

8.7kอ่านประกาศ 2015-11-24T06:01:22.6370000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น