มีหรือไม่!? มาเช็กคุณสมบัติของ ‘นักเขียน’ กันหน่อย

 

มีหรือไม่!? มาเช็กคุณสมบัติของ นักเขียนกันหน่อย

 

#

 

 

สำหรับบทความนี้ให้เพื่อนๆ เตรียมปากกาดินสอมาทำเครื่องหมายถูกหน้าข้อของคุณสมบัตินักเขียนที่เรามีกันเลยดีกว่า เพราะธัญวลัยมีคุณสมบัติหลักๆ ของการเป็นนักเขียนทั้งหมด 5+1 ข้อมาให้อ่าน มาเริ่มกันเลยทางนี้

 

รักการอ่าน

การเขียนคือการส่งสารออกจากนักเขียนไปยังผู้อ่าน นักเขียนเลยต้องมีคุณสมบัติรักการอ่านด้วย เพราะถ้าไม่อ่านหนังสือมาเยอะๆ ก็คงเขียนงานดีๆ ออกมาไม่ได้ ไหนจะการเลือกใช้คำที่นักเขียนทุกคนจะต้องมีคลังคำศัพท์อยู่ในหัวเพื่อเวลาใช้จะได้เลือกหยิบมาเขียนได้อย่างลื่นไหล ทั้งเรื่องของรูปแบบประโยค การเรียงร้อยเรื่องราวด้วยคำเชื่อมและศิลปะการเขียนแบบต่างๆ ล้วนต้องเกิดจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากการอ่านแล้วนำมาเขียนในแบบของตนเอง ให้เป็นเหมือนกับลายเซ็นที่เพียงแค่มองดูผ่านๆ ก็สามารถรู้ได้เลยว่าใครคือผู้เขียน

 

รักการเขียน

นอกจากในข้อแรกที่จะต้องรักการอ่านแล้ว คุณสมบัติข้อสองที่ต่อเนื่องและเกี่ยวพันกับข้อแรกอย่างแยกออกจากกันไม่ได้คือนักเขียนก็ต้องรักการเขียนด้วย การอ่านนั้นต้องมาก่อนการเขียนเสมอ ถ้าเป็นนักเขียนแต่ไม่ชอบการอ่าน-เขียนคงจะแปลกพิลึก  นิสัยรักการเขียนจะช่วยให้เราหมั่นฝึกฝนเทคนิคการเขียนให้ดียิ่งขึ้น และรู้จักรับฟังคำวิจารณ์จากผู้อื่นเพราะรู้สึกอยากพัฒนางานเขียนให้มีคุณภาพ ความรักต่อการเขียนจะทำให้เรามีพัฒนาการการเขียนที่ยอดเยี่ยมขึ้นเป็นลำดับ

 

เป็นคนมีวินัย

ข้อนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้เลยในตัวของนักเขียนทุกคนคือต้องเป็นคนมีวินัย การเขียนงานนั้นไม่สามารถเขียนให้เสร็จได้ภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ การมีวินัยจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ และยังต้องใช้ทั้งความอดทนและความขยันหมั่นเพียรด้วยเพื่อให้เขียนงานได้อย่างต่อเนื่อง ลองคิดดูแล้วกันว่าคุณสมบัติข้อนี้สำคัญมากแค่ไหน ถ้าเขียนงานไม่ได้สม่ำเสมอแล้วไม่มีผลงานออกมาจะเป็นนักเขียนได้ยังไงกัน?

 

รู้จักสังเกตและจดจำ

การเป็นนักเขียนนั้นต้องรู้จักสังเกตและจดจำ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนหนังสือที่อ่านก็ต้องรู้จักช่างสังเกตว่าคำไหนสะกดอย่างไร นักเขียนแต่ละท่านเลือกใช้คำนี้ในสถานการณ์แบบไหน การรู้จักสังเกตและจดจำจะช่วยให้สามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จริงในชีวิตที่พบเจอไปใช้ในงานเขียน นอกจากนี้ ยังทำให้มีความสามารถในการใช้สำนวนภาษาได้ดี

 

หมั่นค้นคว้าหาความรู้

การถ่ายทอดเรื่องราวจากสมองและสองมือของนักเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือได้ นักเขียนเองต้องมีวัตถุดิบอยู่ในสมองของตนมากพอสมควร และวัตถุดิบเหล่านี้ได้มาจากประสบการณ์หรือการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม นักเขียนจึงจะสามารถเขียนถ่ายทอดหรืออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้ เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่ต้องมีเช่นกัน

 

ถ้าเป็นนักเขียนนิยายเราก็ขอแถมให้อีก 1 ข้อเป็นพิเศษ

 

มีจินตนาการและความเพ้อฝัน

คุณสมบัติมีจินตนาการและความเพ้อฝันเป็นเหมือนแรงผลักดันให้นักเขียนสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เพราะหากนิยายทุกเรื่องราบเรียบมีเนื้อหาไปแนวทางเดียวกันหมด แม้นิยายเรื่องนั้นจะเขียนดีแต่ก็คงขาดสีสันไป พล็อตเรื่องที่ดึงดูดคนอ่านได้จะต้องเต็มไปด้วยจินตนาการ ไม่อย่างนั้นคนจะอ่านนิยายที่เป็นเรื่องราวเหมือนในชีวิตจริงไปทำไมกัน ความสนุกจากการอ่านนิยายก็มาจากสิ่งที่เรียกว่าความเพ้อฝันนี่แหละ

คำแนะนำสำหรับนักเขียนนิยาย ถ้าไม่ใช่แนวแฟนตาซีที่ต้องจินตนาการอัดแน่นทั้งเรื่อง นักเขียนนิยายมักจะเขียนเรื่องนิยายอิงอยู่บนพื้นฐานความจริง คือมีทั้งจินตนาการและความเพ้อฝันแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกอินและจินตนาการตามได้ง่าย

 

เช็กเสร็จแล้วเป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย? พอรู้ผลแล้วก็อย่านิ่งดูดายนะ ข้อไหนขาดก็จงเติม ข้อไหนเกินแล้วเป็นข้อที่ดีก็จงรักษาไว้ต่อไป

 

 

7.4kอ่านประกาศ 2017-08-15T19:24:01.0930000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น