'ฮาวทู Write' เขียนนิยาย สไตล์ 'ปราปต์'

 

 

Happy new year 2020!! สวัสดีปีใหม่จ้า วันนี้ธัญญ่าก็มีของขวัญปีใหม่มาฝากชาวธัญวเลี่ยนด้วย นั่นก็คือเคล็ดลับการเขียนนิยายของนักเขียนมือฉกาจอย่างพี่ปราปต์ที่มาบอกเล่าเรื่องราวและถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนนิยายให้เราได้ฟังกันแบบอินไซด์ใน #มีตกับธัญครั้งที่ 3 ตอน ปาฏิหาริย์ | รัก | ลึกลับ ฉบับปราปต์ ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2019 

พูดถึงพี่ปราปต์ ทุกคนคงนึกถึงนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่องดังอย่าง ‘กาหลมหรทึก’ ที่การันตีความสนุกด้วยรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ประจำปี พ.ศ.2557 แถมยังถูกนำไปสร้างเป็นบทละครเรื่องดังที่ทำเอาผู้ชมระทึกขวัญกันทั้งบ้านทั้งเมือง

 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากๆ เลยก็คือพี่ปราปต์ของเราไม่เพียงแต่เขียนแนวสืบสวนสอบสวนเท่านั้น แต่ยังสร้างผลงานนิยายแนวอื่นๆ ออกมาให้เราได้อ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณหมีปาฎิหาริย์ ถ่านไฟเดียว ฯลฯ ซึ่งถือเป็นอะไรที่ท้าทายและน่าสนใจมากๆ ทั้งในมุมนักเขียนและนักอ่านอย่างเราๆ

 

 

 

เอาล่ะ ใครที่กำลังอยากเขียนนิยายแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง เรามาดูกันสักหน่อยดีกว่าว่า ‘ฮาวทู Write’ สไตล์พี่ปราปต์ นั้นเป็นยังไง เพื่อเก็บไว้เป็นทริคและสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายกันต่อไป 

 

จาก ‘ลับ’ ไปสู่ ‘รัก’ 

 

จุดเริ่มต้นการเขียนนิยาย 

“ช่วงเด็กๆ สมัยก่อนได้เงินวันละไม่ก็บาท แต่ก็จะไม่กินข้าวตอนกลางวันเพื่อจะเก็บเงินแล้วไปซื้อนิทานที่วางขายอยู่ตามหน้าโรงเรียน บางทีก็รู้สึกว่ามันไม่ได้สนุกอะไรเลยนะ แต่เรารู้สึกว่าหนังสือคือสิ่งที่เราอยากได้...

 

 

แล้วก็เป็นเด็กที่ติดละคร...ตอนเด็กๆ ชอบดูละครเรื่องหุบเขากินคน โดนเลี้ยงมาให้เป็นเด็กติดละคร ก็เลยรู้สึกแบบ...ชอบเรื่องนี้จังเลย แล้วก็มีเรื่องไฟริษยา...เป็นละครช่องเจ็ด ตอนนั้นพี่เลี้ยงก็ไปซื้อเรื่องย่อละครมา สมัยก่อนยี่สิบห้าบาท เราก็แบบไปแอบอ่าน แล้วก็รู้สึกว่า...การที่จะเป็นละครไม่จำเป็นต้องมีคนกำกับหรือนักแสดงก็ได้ เวลาเราอ่านหนังสือมันเหมือนเวลาเราดูในละครเลย แต่มันเป็นภาพอยู่ในหัวของเรา แล้วก็เลยรู้สึกว่าอยากเอาเรื่องในหัวออกมาเป็นภาพแบบนี้จังเลย

พอเข้ามัธยมต้น ก็เพิ่งจะมารู้จักนิยายที่เป็นนิยายจริงๆ แล้วก็มาเจอเรื่องหุบเขากินคน ของมาลา คำจันทร์...คนเขียนเค้าเก่งมากจริงๆ สามารถย่อยเรื่องยากๆ ให้เราเข้าใจได้ ตั้งแต่อ่านเรื่องนี้ปุ๊บ ทำให้รู้สึกว่าเราไม่อยากทำอะไรอีกเลยในชีวิตนี้ นอกจากอยากจะเขียนหนังสือแบบนี้”

 

หุบเขากินคน เขียนโดย มาลา คำจันทร์

 

นิยายแต่ละหมวดที่อ่าน

“ตอนม.ปลายย้ายไปอยู่โรงเรียนทวีธาภิเศก ห้องสมุดก็จะใหญ่ขึ้น...เป็นช่วงที่ไล่อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า…เข้าห้องสมุดแล้วก็อ่านทุกอย่างเลย อกาธา คริสตี้ก็อ่าน...เชอร์ล็อก โฮมส์ก็อ่านมาเรื่อยๆ...สมัยก่อนคิดว่าทำไมไม่มีคนไทยที่เขียนเรื่องแบบนั้นบ้าง แนวสืบสวนสอบสวน...เราจะต้องเป็นคนที่แบบเขียนสืบสวนสอบสวนแล้วโด่งดังขึ้นมาแน่ๆ สักวันหนึ่ง

...เป็นคนเขียนงานหลายอย่าง เพราะว่าส่วนตัวก็ชอบเสพงานหลายอย่าง...แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสายที่อ่านเรื่องที่ดาร์กๆ ที่คนไม่ค่อยอ่านกัน เช่น ใบไม้ที่ปลิดปลิว ล่า ของทมยันตี

“การเสพงานหลายๆ แบบ...เปิดใจอ่านงานเขียนหลากหลายแนว ทำให้ได้ค้นพบเส้นทางการเขียนของตัวเอง

 



 

นิยาย ไม่ใช่ ‘เรื่อง’ ของปาฏิหาริย์

 

"นิยายไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดีๆ ก็ตกลงมาจากฟ้า มันคือการบ่มเพาะหลายๆ อย่าง"

 

 

กว่าจะเขียนนิยายจบสักเรื่อง มาดูกันว่าพี่ปราปต์มีวิธีการเขียนยังไงบ้าง

 

ขั้นตอนการเขียนนิยายสไตล์ ‘ปราปต์’

 

 

ขั้นที่ 1 ไอเดีย / โจทย์ / แรงบันดาลใจ

เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียน อาจมาจากการหาข้อมูลหรือได้ไอเดียจากสิ่งรอบๆ ตัว ซึ่งนำไปสู่การสร้างตัวละคร แก่นเรื่อง และพล็อต

 

ขั้นที่ 2 แก่นเรื่อง

แก่นเรื่อง คือ ใจความสำคัญของนิยาย บางทีอาจจะคิดไม่ออกตั้งแต่ต้น อาจจะแต่งไปแล้วค่อยๆ มาตกตะกอนทีหลังว่าจริงๆ แล้วเราต้องการจะสื่ออะไรจากสิ่งที่เราเขียน 

 

ขั้นที่ 3 พล็อต 

พล็อต คือ จุดของเหตุการณ์ ไม่จำเป็นต้องวางจนจบ การวางพล็อตสไตล์พี่ปราปต์จะใช้วิธีการวางพล็อตไปเรื่อยๆ เพื่อให้งานที่ออกมาเหนือความคาดหมาย ไม่ซ้ำ เพราะไม่ชอบงานที่อ่านตอนต้นก็รู้ตอนจบอยู่แล้ว 

 

ขั้นที่ 4 แนวเรื่อง

แนวเรื่องหรือหมวดนิยาย นิยายเรื่องหนึ่งสามารถมีหลายแนวได้ เช่น อาจมีทั้งสืบสวนสอบสวนหรือเรื่องผีในเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งสำคัญคือเราจะต้องให้น้ำหนักของแต่ละแนวเรื่องในเรื่อง เพื่อจัดสรรแนวเรื่องที่แท้จริงให้กับเรื่องนั้นๆ ได้ว่าควรจัดไว้ในหมวดไหน 

 

ขั้นที่ 5 คอนเซปต์

การดีไซน์เรื่องว่าเราจะเล่าแบบไหน น้ำเสียงของเรื่องจะเป็นยังไง เช่น ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋ จะเป็นเรื่องตลก แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีการสะท้อนสังคม มีพาร์ตที่หนัก แต่ต้องทำให้คนอ่านตามไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่าจะมาดราม่าทำไม ดีไซน์ของเรื่องจะทำให้งานของเราแตกต่าง

 

 

ขั้นที่ 6 เขียนเนื้อเรื่อง

สร้างทรีตเมนต์หรือเรื่องย่อในแต่ละฉากเพื่อเขียนเนื้อเรื่องเต็มโดยไม่ลืมประเด็นสำคัญว่าเราจะเล่าอะไรบ้าง

 

ขั้นที่ 7 ตรวจแก้

 

พอเขียนจบแล้วก็ตรวจแก้ทั้งหมดที่เขียนมา แก้สำนวน คำผิด หรือปรับบางอย่างที่ยังไม่เข้าที่

 

 

 

How to write

How to สร้างพล็อต สู่ Big Idea

ไอเดียหลักของเรื่องอาจเกิดจากการตั้งคำถามว่า ถ้า...จะเกิดอะไร เช่น เรื่อง The ring ที่มี Big Idea คือการที่คนในเรื่องดูวิดีโอแล้วตายใน 7 วัน หรืออาจมาจากรอบตัว ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา

 

How to หาข้อมูล

หาจุดที่เชื่อมโยงกับความสนใจและศึกษาเพิ่ม ข้อมูลที่ได้อาจทำให้เรารู้ว่าเราจะพาเรื่องไปในทิศทางไหน จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ต หนังสือ คนและสถานที่จริง พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ ฯลฯ

 

How to สร้างโครงเรื่อง

ควรเน้นโครงสร้างโครงเรื่องและลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังเพื่อควบคุมทิศทางของเรื่อง สร้างทรีตเมนต์หรือเรื่องย่อในแต่ละซีน ว่าเราจะเล่าอะไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้ไม่ออกทะเลและไม่ลืมประเด็นที่จะใส่ลงไป

 

How to สร้างปมให้น่าสนใจ

 

ปูเรื่อง -> ความขัดแย้ง -> คลายปม

 

ปม คือ ความขัดแย้งในเรื่อง เมื่อเกิดความขัดแย้งแล้วจะเป็นยังไงต่อ เช่น ความขัดแย้งในตัวละครที่อาจจะทำให้เรื่องเข้มข้นขึ้น หรือความขัดแย้งในเหตุการณ์ที่อาจจะทำให้เนื้อเรื่องนั้นเกินความคาดหมายของคนอ่าน

 

การสร้างปมที่ดีและน่าสนใจคือ นอกจากเราจะปูเรื่องและนำไปสู่ความขัดแย้งแล้วก็ต้องเฉลยจุดขัดแย้งหรือคลายปมที่จุดที่เหมาะสมด้วย

 

How to สร้างตัวละคร 

1. มีที่มาที่ไปของแต่ละตัวละคร 

2. ไม่ควรตั้งชื่อคล้ายกันเพราะจะเกิดความสับสน

3. สร้างเส้นเรื่องของตัวละครแต่ละตัว

 

How to ตั้งชื่อเรื่อง 

1. เตะตา สะกิดใจ ไพเราะ

2. ไม่ใช้คำที่ซ้ำแล้ว เพราะจะทำให้คนอ่านจำงานเราไม่ได้

3. ชื่อเรื่องควรบอกอารมณ์เรื่องโดยรวม

4. ตั้งก่อนเขียนได้ยิ่งดี

5. คิดชื่อโดยอ้างอิงจากคอนเซ็ปต์เรื่อง แนวเรื่อง ใช้คำน่าสนใจ กลายเป็น ชื่อเรื่อง

 

How to ตั้งชื่อตอน 

1. อย่าสปอยล์เรื่อง! 

2. ดึงความสนใจให้คนเปิดอ่าน 

3. สามารถใช้สร้างลูกเล่นและกิมมิคให้เรื่องได้ เช่น เรื่อง ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋ ใช้ชื่อไพ่ดูดวงเป็นชื่อตอน

 

How to เผยแพร่ผลงาน

 

การส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณา

1. ควรติดตามความเคลื่อนไหวและดูแนวงานและความต้องการของแต่ละสำนักพิมพ์ให้ดี

2. จัดหน้าต้นฉบับให้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละสำนักพิมพ์ เช่น จำนวนหน้าขั้นต่ำ ขนาดตัวอักษร

3. การเขียนเรื่องย่อ ควรเขียนให้ได้อารมณ์เดียวกับเนื้อเรื่อง ควรแยกเป็นเรื่องย่อที่ส่งให้สำนักพิมพ์กับเรื่องย่อที่เขียนไว้อ่านเอง (มีโน้ตที่เรารู้เอง) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

4. จดหมายปะหน้า 

- แจ้งว่าเคยมีรางวัลอะไรมาบ้าง 

- เขียนให้สุภาพ 

- สะกดถูกต้อง

 

การส่งประกวด 

1. อ่านและวิเคราะห์กติกาให้ดี

2. ลองศึกษาจากงานที่เคยชนะการประกวดนั้น

3. หาไอเดีย

4. เขียนให้จบทันเวลา!

5, ส่งแล้วแต่ไม่ต้องรอผล เริ่มเขียนเรื่องใหม่ไปเลย

 

6. รับมือกับผลลัพธ์

 

เผยแพร่ออนไลน์หรือลงอีบุ๊กในเว็บไซต์ต่างๆ

 

นอกจากสำนักพิมพ์และส่งประกวดแล้วก็จะมีเผยแพร่ช่องทางออนไลน์ทำให้คนเห็นงานเราได้อย่างแพร่หลายขึ้น



Q&A

ถาม - ตอบ

 

Q : จะเขียนนิยายเป็นอาชีพได้อย่างไร

A : จงเขียน คุณต้องเขียนก่อน เวลาที่ตัน ติด มีปัญหา หรืออยากทำให้ดีขึ้นก็เอามาขัดเงา ทำไปเรื่อยๆ ถ้าวิเคราะห์ตลาดและไม่ย่อท้อไปซะก่อน ผมก็มองว่าสุดท้ายมันก็เป็นอาชีพได้

 

Q :สูตรลับการเขียนนิยายให้ครองใจนักอ่าน

A :  เป็นสิ่งที่ยากมาก ยิ่งตอนนี้ที่ตลาดเปลี่ยนไปหมด ไม่มีสูตรสำเร็จแล้ว สูตรลับของผมเองคือเราต้องสนุกกับมันก่อน ถ้าเราเขียนเรื่องแล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย มันสนุก เราเขียนแล้วเราขนลุกเลย จงสนุกกับสิ่งที่คุณทำก่อน ถ้ายังไม่รู้สึกสนุก คนอ่านก็จะรู้สึกแบบนั้น

 

Q : นักเขียนคนทำอย่างไร เมื่อปะทะกับบรรณาธิการ

A :  บ.ก.เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเขียนงาน บอกให้เราเห็นว่าอะไรที่ควรแก้บ้างหรือไม่ควรจะแก้ หรือตรงนี้ควรทำให้มันดีไปกว่านี้ ลองขยี้ไปมากกว่านี้ ฉะนั้นเวลาที่เขาติอะไร อย่าเพิ่งโกรธ บางทีเขาถามมาเพื่อที่จะบอกเราว่ามันแปลแบบนี้ได้นะ หรือท้วงติงสิ่งที่หลุด บ.ก.เจอดีกว่านักอ่านเป็นคนเจอ

 

Q : นิยายที่ดีและนิยายตลาดต่างกันตรงไหน

A : นิยายที่ดีเป็นสิ่งที่นิยามยาก นิยายที่ดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็จะกลายเป็นว่านิยายที่ใครอ่านสนุกก็เป็นนิยายที่ดีสำหรับเขา บางทีมันจะมีวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่อ่านยาก ตีความยาก อ่านไม่รู้เรื่องเลย ถามว่าสนุกไหม มันก็สนุกกับคนที่ต้องการอ่านงานแบบนั้น สนุกกับการที่เขาได้ใช้ความคิด ในขณะที่นิยายตลาด ต้องจับตลาดได้ นิยายที่ดี ดีสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง สำหรับคณะกรรมการ หรือดีสำหรับตลาด ขายได้ ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน นี่แหละคือความแตกต่าง

 

Q : ในอนาคตตลาดนิยายจะก้าวไปทางไหน

A : สำหรับผม ผมคิดว่ามันน่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น มี Big idea แปลกๆ เข้ามามากขึ้น 

 

Q : การสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ และวางแผนให้ตัวเองมีระเบียบในการลงมือเขียนจนจบ

A : แรงบันดาลใจเราอยู่รอบตัว มันจะยิ่งยากถ้าเราคิดว่าวันนี้เราต้องการแรงบันดาลใจ ต้องไปหามา พอคิดแบบนั้นจะหาไม่ได้ ในขณะที่เราอาจจะทำอย่างอื่นอยู่ แล้วมันจะชอบมาเอง เช่น ตอนอาบน้ำ ถูบ้าน 

การวางแผน เขียนหนังสือเต็มเวลา ส่วนตัวเซตเอาไว้ว่าวันนึงเขียนให้ได้อย่างน้อยสามหน้า แก้ปัญหาการเขียนไม่จบ้วยการเขียนให้จบทีละเรื่อง อย่าเพิ่งเขียนเรื่องใหม่ถ้าเรื่องเก่ายังไม่จบ ถ้ามีไอเดียเรื่องใหม่ๆ ให้จดเอาไว้ก่อน สมมติว่านึกถ้อยคำสวยหรูได้ก็อาจจะเขียนฉากนั้นขึ้นมาก่อนแต่อย่าเพิ่งไปเขียนเรื่องนั้น โน้ตไว้ แล้วเขียนเรื่องเก่าให้จบก่อน ตั้งเป้าว่าถ้าเรื่องเก่ายังไม่จบจะยังไม่เขียนเรื่องใหม่

 

Q :  วิธีรับมือกับความผิดหวังเมื่อฟีดแบ็กของนิยายไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองหวัง

A : ตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำไมฟีดแบ็กถึงเป็นแบบนี้แล้วนำไปปรับปรุงในงานต่อไป 

 

Q :  คิดว่าการเป็นผู้ชายมีผลหรือไม่กับการเขียนนิยายให้คนอ่านรู้สึกอิน

A : ไม่เกี่ยวเลย ทุกคนมีความรู้สึกทั้งหมด เราสามารถเอาความรู้สึกของเรามาถ่ายทอดได้ พอเรารู้สึกอินแล้วคนอ่านกจะอินตาม

 

Q : ใช้คำซ้ำเยอะเกิน นักเขียนจำเป็นต้องรู้คำศัพท์มากใช่ไหม

A : ควรจะรู้จักการหลากคำ คือคำที่มีความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน แต่เราจะไม่ใช้คำเดียวกัน เช่น คำว่า วิ่ง ถลัน พุ่ง ไม่ควรใช้คำซ้ำ ถ้าละประธานได้ก็อาจละ เ็นสิ่งหนึ่งที่ใช้วัดได้เลยว่านักเขียนคนนั้นเป็นมืออาชีพแค่ไหน

 

ธัญญ่าและทีมงานธัญวลัยต้องขอขอบคุณพี่ปราปต์มากๆ เลยค่าที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรของเราในครั้งนี้ นอกจากฝีมือการเขียนจะสุดยอดชนิดหาตัวจับยากแล้ว องค์ความรู้ก็พี่ปราปต์นำมาถ่ายทอดก็มีประโยชน์และครบเครื่องมากๆ ธัญญ่าหวังว่าเทคนิคการเขียนนิยายสไตล์พี่ปราปต์จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

แต่สุดท้ายนี้พี่ปราปต์ฝากไว้นิดนึงว่า…ไม่ว่าเทคนิคการเขียนที่พี่ปราปต์ถ่ายทอดไปจะสุดยอดแค่ไหน แต่ทุกคนต้องเริ่มด้วยการเขียนเท่านั้นนะคะ!

แล้วเจอกันใหม่ใน #มีตกับธัญ ครั้งต่อไปนะคะ จุ๊บ~

 

ธัญญ่าผู้น่ารัก จากธัญวลัย

6.4kอ่านประกาศ 2020-01-14T07:17:23.3570000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น