ก่อร่างสร้างนิยาย สไตล์ ‘กัลฐิดา’



ก่อร่างสร้างนิยาย สไตล์ ‘กัลฐิดา’

 

 

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาธัญวลัยของเราได้จัดกิจกรรม 'มีตกับธัญ ครั้งที่ 2 ตอน ก่อร่าง สร้าง (เป็น) เรื่อง' ขึ้น และได้เชิญคุณ 'กัลฐิดา' หรือ ‘พี่กัล’ เจ้าของนิยายแฟนตาซีเรื่องดัง 'เซวีน่า...มหานครแห่งมนตรา' มาเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้กับธัญญ่าและเพื่อนๆ วันนี้ธัญญ่าก็เลยสรุปคอนเทนต์แบบย่อๆ มาให้ดูกัน

 

1. การสร้าง Big Idea

แน่นอนว่ากว่าจะมาเป็นนิยายสักเรื่อง หัวใจสำคัญก็คือ Big Idea นั่นเอง ธัญญ่าเชื่อว่าแต่ละคนก็มีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจไม่เหมือนกัน แต่สำหรับใครที่ยังตันๆ ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ขอให้ถามตัวเองก่อนเลยว่า

 

คุณชอบนิยายแบบไหน?

 

เมื่อเรารู้ว่าเราชอบอะไร และทำความเข้าใจตัวเองเรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มเขียนสิ่งที่อยากอ่าน หรืออยากอยู่ในโลกแบบนั้น เพราะการเขียนในสิ่งที่ชอบนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และทำให้เราอินกับสิ่งที่เราเขียนได้ง่ายที่สุด

 

การอ่านคือทุกอย่าง

 

การจะเป็นนักเขียนที่เก่งได้ต้องเริ่มจากการอ่านให้เยอะ พี่กัลบอกว่าเวลาว่างๆ ลองอ่านสิ่งที่ชอบดูบ้าง ทริคก็คืออ่านให้เร็วที่สุดและมากที่สุด เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์และเรียนรู้กลวิธีการเขียนแบบต่างๆ

ในการสร้าง Big Idea นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ

1) Fact

ความจริงที่ไม่สามารถบิดเบือนได้

2) Data

ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ

3) Idea

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในเรื่องที่อยากจะเขียน

 

 

วิธีสร้าง Big idea 

 

1. Inspiration key

แรงบันดาลใจในที่นี้ก็คืออะไรก็ตามที่จะทำให้คุณมีความสุขและสนุกไปกับมัน เมื่อมีแรงบันดาลใจแล้วก็ลิสต์สิ่งที่เกี่ยวข้องหรืออยากให้มีในนิยายเรื่องนั้นขึ้นมาได้เลย

 

2. Review

ค้นคว้าและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต้องใช้ในการเขียน

 

3. Mixture and Adaptation

ลองจับข้อมูลที่หามามาผสมผสานกัน อาจจะได้อะไรใหม่ๆ ที่คิดไม่ถึงก็ได้นะ

 

4. Creation

เริ่มสร้างโลกของเราขึ้นมาจากอะไรก็ตามที่เป็นแรงบันดาลใจของเราและข้อมูลในมือได้เลย

 

5. Adjustment

ปรับแก้ทุกอย่างจนกว่าจะพอใจและคิดว่าสมบูรณ์ที่สุดโดยยึดความต้องการและความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก เพราะโลกที่เรากำลังจะสร้างนี้เป็นของเรา!

 

 

2. การสร้าง Story

หลังจากเราได้ Big Idea แล้วก็มาเริ่มสร้างสตอรีกันได้เลยจ้า โดยสามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ

 

1) พล็อต (Plot)

สร้างพล็อตเรื่องขึ้นมาโดยใช้หลัก

 

What (เกิดอะไร) - When (เมื่อไหร่) - Where (ที่ไหน) - Why (ทำไม) - How (อย่างไร)

 

 

เริ่มจากการตั้งคำถามด้านบนขึ้นมาแล้วเติมคำตอบของเราลงไปทีละข้อเพื่อให้พล็อตของเรามีที่มาที่ไปและสมบูรณ์ปราศจากช่องโหว่ค่ะ

 

2) คาแร็กเตอร์ (Character)

สร้างตัวละครที่ใช้ในการดำเนินเรื่องขึ้นมา โดยอาจจะอิงจากพล็อตเรื่องหรืออาจจะเอาคาแร็กเตอร์เป็นตัวตั้งต้น

 

 

“Character is Plot,

Plot is Character”

- F. Scott Fitzgerald

 

จากประโยคด้านบนชี้ให้เห็นว่าบางครั้งพล็อตและคาแร็กเตอร์นั้นมีความเกี่ยวพันกันจนแทบจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นการสร้างคาแร็กเตอร์จึงสำคัญไม่แพ้พล็อตเรื่องเลยจ้า

 

3) ปมขัดแย้ง (Conflict)

ประเด็นที่ต้องคลี่คลาย ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมา นิยายจะสนุกและน่าติดตามมากน้อยแค่ไหน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับปมขัดแย้งนี้เองล่ะค่า

เมื่อวางพล็อต คาแร็กเตอร์ และปมของเรื่องแล้ว ก็มาลองสร้างโลกกันได้เลย ซึ่งในการสร้างโลกแต่ละครั้งต้องกำหนด

1. Location

สถานที่ที่ใช้เป็นโลเคชันในการเขียนและสร้างภาพในจินตนาการ มีอิทธิพลมากต่อเรื่องทั้งหมด 

2. Costume

การครีเอตการแต่งกายที่เหมาะสมกับถิ่นที่อยู่และสภาพอากาศ

3. Weather

สภาพอากาศที่สอดคล้องกับโลเคชัน มีผลต่อเครื่องแต่งกายและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ในเรื่อง

4. Building

สถาปัตยกรรมต่างๆ อาจจะเป็นสิ่งใหม่หรือมีพื้นฐานจากสิ่งเดิม หรืออาจมีการผสมผสานตามจินตนาการนักเขียน

 

เมื่อคิดและแต่งเติมรายละเอียดต่างๆ ของโลกเราในหัวเสร็จแล้วก็อย่าลืมจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบนะคะ เพราะบางครั้งเวลาเราลืมหรือติดขัดตรงไหน จะได้มีหลักฐานช่วยเตือนความจำยังไงล่ะ

 

นอกจากจะมาให้ความรู้แล้ว พี่กัลและสถาพรบุ๊กส์ยังใจดีแจกแผนที่หมู่บ้านจากเรื่อง Witchoar มาให้เพื่อนๆ ได้ดูกันด้วย เปิดโลกจินตนาการธัญญ่ามาก อลังการสุดๆ ไปเลยล่ะค่า ชวิ้งงง

 

 

 

 

3. การสร้าง Character

เมื่อได้พล็อตแล้วเชื่อว่าคำถามนี้ต้องมา วางสตอรีมาแบบนี้ คาแร็กเตอร์ควรเป็นแบบไหนกันนะ พี่กัลบอกว่าให้คำนึงก่อนว่านิยายของเรามีพล็อตเรื่องแบบ Plot base หรือ Character base 

 

Plot base

1. ข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ อายุ ลักษณะภายนอก

2. ลักษณะนิสัยหลักๆ ที่เห็นได้ชัด

3. เป้าหมาย ทัศนคติ

 

Character base

ถ้านิยายของเพื่อนๆ มีการสร้างพล็อตโดยอิงจากตัวละครเป็นหลัก สิ่งที่เราวางไว้จึงต้องมีรายละเอียดที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ตัวละครนั้นๆ โดดเด่นขึ้นมา

1. ข้อมูลทั่วไปอย่างละเอียด

2. ลักษณะนิสัย

3. เป้าหมาย ทัศนคติ

4. ภูมิหลังของตัวละคร ที่อาจนำไปสู่ประเด็นสำคัญในนิยาย

 

แต่ละสไตล์ก็มีเสน่ห์และความยากง่ายไม่เหมือนกัน เพื่อนๆ ลองมองดูนะคะว่าเรื่องที่อยากเขียนนั้นจัดอยู่ในประเภทไหน จะได้เลือกสร้างคาแร็กเตอร์ได้อย่างเหมาะสมและรัดกุม

 

 

4. การสร้าง Conflict

 

นิยายทุกเรื่องต้องมี Conflict หรือ ปมขัดแย้ง ที่เปรียบเสมือนเนื้อเพลงที่ทำให้เพลงนั้นเพราะขึ้นมา ซึ่งเป็นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ไม่จำเป็นต้องเป็นปมขัดแย้งเชิงลบเสมอไป ซึ่งก็มีหลักการความขัดแย้ง 4 รูปแบบคือ

 

1. ขัดแย้งกับตนเอง

เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจตัวละครเอง อาจจะเกี่ยวกับปมในใจหรือมโนธรรมของตัวละคร

 

2. ขัดแย้งกับผู้อื่น

เป็นความขัดแย้งที่เกิดจาก เช่น การแย่งชิงผลประโยชน์ เกิดสงคราม

 

3. ขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อม

เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติต่างๆ

 

4. ขัดแย้งกับโชคชะตา

เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวกับโชคชะตาของตัวละคร เช่น ความพลัดพรากของตัวละคร

 

นิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจจะมีปมขัดแย้งได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องมีเพียงรูปแบบเดียวน้า

 

 

5. การสร้าง Conclusion

 

Someday the conclusion has come.

วันหนึ่ง...บทสรุปของเรื่องก็จะมาถึง

 

มาถึงข้อนี้ พี่กัลบอกว่าเราควรวางเป้าหมายของเรื่องเอาไว้ และวางบทสรุปไว้หลายแบบ เพื่อสำรองในกรณีที่ไม่สามารถจบแบบที่วางแผนไว้ตอนแรกได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบทสรุปเหล่านั้นควรนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

 

 

6. การเล่าเรื่อง (Story Telling)

เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้ตอนสร้างสตอรีเลยค่า ในการเล่าเรื่องนั้นอันดับแรกต้องคำนึงก่อนว่าเขียนให้ใครอ่าน และจะใช้ทักษะอะไรในการเขียน ดังนั้นสิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ก็คือองค์ประกอบที่ต้องใช้ในการเขียน ซึ่งก็คือ

1) ทักษะ

2) ข้อมูล

3) แนวคิด

 

ในการเล่าเรื่องนั้นมี 3 ด่านสำคัญก็คือ

 

1. เริ่มต้นน่าดึงดูด

นักเขียนแต่ละคนก็มีสไตล์การเริ่มเรื่องที่ต่างกันออกไป อาจจะเริ่มด้วยคำถาม การแสดงความขัดแย้ง การบรรยายทั่วไป หรือการเปรียบเทียบ

 

2. ดำเนินเรื่องน่าติดตาม

เนื้อหาที่เขียนเต็มไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจ การให้เหตุผลที่ดี โดยนักเขียนอาจจะใส่ทัศนคติบางอย่างลงไปก็ได้

 

3. จบลงด้วยความประทับใจ

- จบแบบปลายเปิด

ไม่บอกข้อสรุปแก่นักอ่านและไม่ลงความเห็นอย่างชัดเจน ให้นักอ่านสามารถคิดต่อได้เอง

- จบแบบปลายปิด

นักอ่านได้ข้อสรุป และไม่มีอะไรค้างคา



ว้าววว ทั้ง 6 หัวข้อที่พี่กัลนำมาพูดให้เราได้ฟัง วิธีก่อร่างสร้างนิยายสไตล์กัลฐิดานั้นสุดยอดมากๆ เลยค่ะ ทั้งเข้าใจง่าย รัดกุมและนำไปปฏิบัติตามได้ไม่ยากเลย ใครอยากจะสัมผัสบรรยากาศและฟังพี่กัลสอนแบบยาวๆ ทั้งภาพและเสียง เดี๋ยวทีมงานจะมีคลิปวิดีโอสั้นๆ มาฝาก ติดตามได้เร็วๆ นี้ที่เพจ tunwalai.com 

ขอส่งท้ายด้วยข้อคิดและ Writer's tips ดีๆ จากพี่กัลสักนิด

 

Become a writer by writing,

Do it, do it more, do it better

fail and fail better

 

- Margaret Atwood

 

จงเป็นนักเขียนโดยการเขียน

เขียนให้มากขึ้น เขียนให้ดีขึ้น

ล้มเหลว และล้มเหลวให้ดีกว่าเดิม

 

 

---



Writer as God

โลกที่น่าสนใจ ไม่มีอยู่จริง

มีแต่โลกที่คนเขียนสนใจอยากจะเห็นเท่านั้น

- Kalthida

 

เห็นไหมคะว่าไปมีตกับธัญแค่วันเดียว ธัญญ่าได้อะไรดีๆ มาฝากเพื่อนๆ เยอะมาก ต้องขอขอบคุณพี่กัลฐิดามากๆ เลยนะคะที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรให้กับธัญวลัยของเรา แล้วพบกันใหม่ใน #มีตกับธัญ ครั้งหน้านะคะ ธัญวลัยจะเชิญใครมา เตรียมเซอร์ไพรส์กันได้เลยจ้าาา



โฉมงามธัญญ่า

ณ ดินแดนธัญวลัยแลนด์







4.1kอ่านประกาศ 2019-06-25T08:25:09.2300000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น