ไม่ใช่แค่นักเขียน ที่ต้องใช้ภาษา

ไม่ใช่แค่นักเขียน ที่ต้องใช้ภาษา

 

            ภาษาคือวัจนภาษาที่ใช้สื่อสารในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน ยิ่งในสมัยนี้สังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก การใช้ภาษาที่ถูกต้องจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนักเขียนแล้วธัญวลัยจึงมีอาชีพที่ต้องใช้ภาษาในการประกอบอาชีพมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันด้วย

 

ก๊อปปี้ไรท์เตอร์

            หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับอาชีพนี้ และคงคิดว่าเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการคัดลอกหรือเปล่า ก๊อปปี้ไรท์เตอร์มีหน้าที่คิดคำทุกคำในสื่อโฆษณาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ภาพ ดนตรี แต่ก๊อปปี้ไรท์เตอร์จะแตกต่างจากนักเขียนทั่วไปตรงที่การคิดของก๊อปปี้ไรท์เตอร์จะมีข้อมูลที่ถูกกำหนดมาให้อยู่แล้ว และคิดงานให้ออกมาตรงคอนเซปต์ที่สุด

 

ทนายความ

            ถ้าถามว่าอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับการเขียนอย่างไร ทนายความถือเป็นตัวแทนด้านกฎหมาย ซึ่งสิ่งที่เชื่อมโยงอาชีพทนายความกับการเขียนคือการจัดทำเอกสารกฎหมายต่างๆ เขียนสำนวนยื่นต่อศาล เช่น คำฟ้อง คำให้การ คำร้อง และการเขียนเหล่านี้จะต้องกระชับ ตรงประเด็น ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้ศาลเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสาร ดังนั้นการใช้ภาษาให้ถูกต้องจึงค่อนข้างสำคัญสำหรับอาชีพนี้

 

ล่าม

            ล่ามเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ใครๆ หลายคนใฝ่ฝันอยากจะทำอาชีพนี้ แต่การจะเป็นล่ามได้นั้น ไม่ใช่แค่เก่งภาษาอย่างเดียว จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มีไหวพริบในการแก้ปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ที่ล่ามต้องเจอเป็นสถานการณ์ที่อาจกดดันและช่วงเวลาที่จำกัด ภาษาที่แปลจะต้องถูกต้อง แม่นยำ ที่สำคัญไม่ควรใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไปด้วย

นักแปลการ์ตูนมังงะ

            อาชีพนี้คงเหมาะสำหรับคนชอบหรือสนใจภาษาญี่ปุ่นเป็นพิเศษและต้องมีใจรักในการแปล เพราะผลตอบแทนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพการแปลในสายอื่นๆ หลายคนคงมองว่าการเป็นนักแปลการ์ตูนมังงะง่ายแสนง่ายแค่เก่งภาษาญี่ปุ่นก็แปลได้ แต่ความจริงแล้วการจะแปลการ์ตูนในแต่ละเรื่องนักแปลจะต้องทำความเข้าใจในการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ศึกษาบุคลิกของตัวละคร เนื้อเรื่อง การแปลจะต้องระวังบทพูด ไม่แข็งเกินไป เป็นธรรมชาติ แล้วแปลให้ออกมาดีที่สุด

 

นักเขียนบทละครโทรทัศน์

            การจะทำละครเรื่องหนึ่งได้นั้นจำเป็นจะต้องมีบทละครโทรทัศน์ ซึ่งนักเขียนบทละครโทรทัศน์จะคล้ายๆ กับนักเขียนนิยาย แต่ต่างตรงที่การเขียนบทละครนั้นจะต้องมีความชัดเจน ทำให้ออกมาเป็นภาพง่ายที่สุด และจะต้องมีประเด็น ทำให้ทีมงานที่ผลิตละครเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ออกมาเป็นละครที่เราเห็นตามโทรทัศน์ในทุกวันนี้

 

            นี่เป็นเพียงอาชีพส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายๆ อาชีพที่ธัญวลัยไม่ได้กล่าวถึง ใครมีอาชีพไหนที่ใช้ภาษาในการประกอบอาชีพในดวงใจหรือฝันอยากจะเป็น ลองมาแบ่งปันกันได้นะคะ

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ทรูปลูกปัญญา

2kอ่านประกาศ 2016-07-15T07:33:24.9400000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น