แต่งนิยายไม่เคยจบ...ทำไงดี?

 

#

 

1.กำหนดเป้า

 

                น้องๆ หลายคนเลือกที่จะเขียนนิยายตอนที่อยากจะเขียน แล้วเราอยากจะเขียนนิยายบ่อยแค่ไหน?...

ทุกวัน?

สัปดาห์ละครั้ง?

เดือนละครั้ง?

หรือปีละครั้งกันล่ะ?

                แล้วแบบนี้เมื่อไรนิยายของเราจะจบสักทีนะ เอางี้ดีไหม เรามาตั้งกำหนดตายตัวไปเลยว่าในหนึ่งสัปดาห์เราจะเขียนนิยายกี่ตอน หรือเราจะต้องเขียนนิยายให้จบภายในกี่เดือน เพราะการที่เราเขียนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีกำหนดจบ หรือไม่มีกำหนดเวลาเขียนให้กับตัวเอง เราก็จะเฉื่อย แรงบันดาลใจที่มีก็จะค่อยๆ ลดลงไปจนไม่อยากจะเขียนต่อ       หรือถ้าเราทิ้งนิยายไปนานๆ แล้วกลับมาเขียนใหม่ เนื้อเรื่องและอารมณ์ของตัวละครอาจจะไม่ต่อเนื่องกันแล้วก็ได้ และนี่ล่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้นิยายของเราไม่สนุก ไม่น่าติดตาม เพราะเนื้อเรื่องมันไม่ต่อเนื่องและสอดคล้องกันในแต่ละเหตุการณ์ยังไงล่ะ

 

2. วางโครงเรื่องให้จบทั้งเรื่องก่อนลงมือเขียน

 

                การวางโครงเรื่องไม่ใช่เป็นตัวช่วยให้เราเขียนนิยายได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่การวางโครงเรื่องจะช่วยทำให้นิยายของเราจบเร็วขึ้นด้วย แต่ต้องเป็นโครงเรื่องที่วางจบแล้วทั้งเรื่องนะคะ หลายๆ คนวางโครงเรื่องแค่ครึ่งเดียวแล้วก็รีบเขียนเลย เพราะยังคิดตอนจบของนิยายไม่ออก แบบนี้ก็ไม่ผิดหรอกค่ะ แต่หากเราเป็นนักเขียนมือใหม่ก็ควรที่จะวางต้นเรื่อง กลางเรื่อง และตอนจบของเรื่องไว้ก่อน อาจวางไว้คร่าวๆ ก่อนก็ได้ว่าอยากให้เรื่องเป็นไปเป็นมาอย่างไร หรือมีสถานที่ไหนโผล่ออกมาบ้าง หรืออยากให้ตอนจบของตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร

                โครงเรื่องที่วางจบแล้วและเป็นการวางโครงเรื่องแบบละเอียด จะช่วยให้เราเขียนนิยายได้ง่าย และเนื้อเรื่องของนิยายจะต่อเนื่อง ไม่มีส่วนสำคัญที่ขาดหายไป หรือมีจุดผิดพลาดของนิยายน้อยกว่าการเขียนสด โครงเรื่องที่ดีที่สุดคือการเขียนโครงเรื่องที่ละเอียด ว่านิยายเรื่องนี้จะมีกี่ตอน แต่ละตอนจะเป็นอย่างไร มีตัวละครตัวไหนบ้าง ฉากคือสถานที่ไหน และอารมณ์ของตัวละครในตอนนี้จะเป็นอย่างไรกันบ้าง อดทนเขียนโครงเรื่องดีๆ สักหนึ่งเรื่องแล้วค่อยเริ่มเขียนนะคะ เชื่อเลยว่าน้องๆ จะมีนิยายที่จบแล้วเป็นของตัวเองแน่นอน

 

3. พยายาม “อย่า” เขียนนอกเรื่องที่กำหนดไว้

 

                ต่อให้เราวางโครงเรื่องไว้เรียบร้อย แต่หากเราชอบเขียนนอกเรื่องหรือเกินจากโครงเรื่องไปมากๆ ก็มีแนวโน้มว่านิยายของเราจะเริ่มออกทะเลหรือมีเนื้อเรื่องสดเข้ามาแทรกมาก อาจจะทำให้นิยายของเราช้าลงได้ ความจริงแล้วการเขียนนอกเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เสียเวลามากขนาดนั้นหรอกนะคะ แต่การเขียนนอกเรื่องสำหรับนักเขียนมือใหม่แล้ว อาจจะส่งผลให้โครงเรื่องที่วางไว้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ควรจะเป็น

                หากตอนที่เรากำลังเขียนแล้วเกิดมีไอเดียดีๆ ที่อยากจะแทรกลงในนิยายหรือในตอนไหนๆ ก็ให้เขียนโครงเรื่องของฉากที่เราอยากจะเพิ่มลงไป เหมือนกับเป็นการเขียนนิยายอีกเรื่องเลยค่ะ เพียงแต่มันมีแค่ฉากที่เราอยากจะแทรกลงไปใหม่เท่านั้นเอง และฉากที่เราแทรกนั้นจะต้องสอดคล้องกับฉากต้นเรื่องและฉากที่ต่อท้ายของเราด้วยนะคะ

 

4. หมั่นอ่านผลงานคนอื่นบ้าง

 

 

                การที่เราเขียนนิยายเป็นของตัวเอง ก็ใช่ว่าจะต้องเลิกอ่านนิยายของคนอื่นนะคะ เพราะการอ่านนิยายของนักเขียนท่านอื่นๆ จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นการฝึกสำนวนของเราไปในตัว ลองศึกษารูปแบบการวางโครงเรื่องและรูปแบบการสื่อการของตัวละครดูว่านักเขียนท่านอื่นๆ มีรูปแบบการเขียนอย่างไรบ้าง นั่นจะทำให้เราเขียนนิยายได้ง่ายขึ้น เพราะหลายๆ คนเลิกที่จะเขียนนิยายเนื่องจากบรรยายไม่เก่ง นึกออกว่าตัวละครมีอารมณ์เป็นแบบไหนแต่ไม่สามารถอธิบายเป็นตัวอักษรได้ ลองอ่านและฝึกบรรยายให้มากๆ จะช่วยลดอาการประหม่าเวลาเขียนได้นะคะ

8.3kอ่านประกาศ 2016-05-25T06:33:39.3300000+00:00ลงประกาศ

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็นทั้งหมด ()
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น